สกพอ.ดันโมโนเรล 5 สถานี เชื่อมอู่ตะเภา-ระยอง
สกพอ.เล็งถก อบจ.ระยอง วางระบบขนส่งมวลชนเชื่อมอู่ตะเภา-ตัวเมืองระยอง 30 กม.นำร่องรถเมล์ไฟฟ้า เฟส 2 ดันไฟฟ้ารางเบา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.เตรียมหารือองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เกี่ยวกับแผนการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนรอง หรือ ฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภาและตัวเมืองระยองระยะทาง 31 กิโลเมตร รวมทั้งการวางระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูงกับตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 1 จะมาสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภาจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง โดยรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี จึงต้อง
เตรียมการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนไว้ โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ
1.ระบบรถเมล์อัจฉริยะ ซึ่งจะให้บริการแบบตรงต่อเวลาและมีเส้นทางเดินทางที่เหมาะสมกับการเชื่อมต่อกับตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนจากมากับคณะทัวร์มาเป็นการเดินทางแบบส่วนตัว ดังนั้นจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและตรงเวลา
2.ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (โมโนเรล) จะดำเนินการเมื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้ระยะหนึ่งและมีจำนวนผู้โดยสารที่มากพอ ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ระยอง ได้ใช้งบ 10 ล้านบาท ในการจ้างมหาวิทยาลัยบูรพาศึกษาในการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา
ผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดระยะทาง 31 กิโลเมตร จะมีสถานีประมาณ 5-6 สถานี ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (ทีโอดี) มากกว่าการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพิ่มอีก 1 สถานี ช่วงสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง เนื่องจากจะเกิดพื้นที่รองรับการพัฒนารอบสถานี 5-6 พื้นที่ ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงจะมีพื้นที่พัฒนาเฉพาะที่สถานีระยอง 1 สถานี ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเฟส 2 จะขยายเส้นทางจากอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ก็จะขยายเส้นทางผ่านตัวเมืองระยอง
นายคณิศ กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองจะรองรับทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งจะรองรับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยในอนาคตจะมีการเดินทางเชื่อมต่อมากจึงต้องวางระบบขนส่งมวลชนไว้
ทั้งนี้ สนามบินอู่ตะเภาพื้นที่ 6,500 ไร่ จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนามหานครการบิน ซึ่งได้ศึกษาแผนการพัฒนามหานครการบินออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.พื้นที่เขตชั้นในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่ 1.41 แสนไร่
2.พื้นที่เขตชั้นกลางรัศมี 10-30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 6.76 แสนไร่
3.พื้นที่ชั้นนอกที่ครอบคลุมท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ มีพื้นที่ 2.23 แสนไร่ โดยมหานครการบินจะต้องแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาความหนาแน่นเหมือนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
นอกจากนี้ เขตศูนย์กลางจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มมาก และไม่ก่อมลพิษ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยานและธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรชั้นนำ โดยจะเน้นในเส้นทางพื้นที่ระหว่างเมืองพัทยาและเมืองระยอง ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่วางรายละเอียดอีกครั้ง