กรรมเก่าไล่ล่า 'ธนาธร-อนาคตใหม่' ทางวิบากกระทบ 'แม่-เมีย' ?

กรรมเก่าไล่ล่า 'ธนาธร-อนาคตใหม่' ทางวิบากกระทบ 'แม่-เมีย' ?

จับประเด็นร้อน! กรรมเก่าไล่ล่า "ธนาธร-อนาคตใหม่" ทางวิบากกระทบ "แม่-เมีย"

วิเคราะห์  “วิบากกรรมหรือกรรมไล่ล่าธนาธร”? จากรายการเนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก. ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลาห้าโมงเย็นทางเนชั่นทีวีช่อง 22 "สมชาย มีเสน” ซีอีโอเครือเนชั่น "วีระศักดิ์ พงษ์อักษร" บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และ "บากบั่น บุญเลิศ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

“วีระศักดิ์” ตั้งคำถามว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปชี้แจงศาลรัฐธรรมนนูญในกรณีการถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม และวันที่ 20 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้นั้นจะส่งผลทางการเมืองกับตัวเอง พรรคและสมาชิกพรรคเช่นใด

 “สมชาย” กล่าวว่า วิบากกรรม คือ กรรมเก่า กรรมไล่ล่าคือผลของการกระทำที่กำลังไล่ล่า วันที่ 6 ตุลาคม ธนาธร พูดว่า “เพิ่งรู้ตัวเองว่าเลวในตอนทำงานการเมือง เพราะพวกเขาต้องจัดการตนและพรรค” หากมองเส้นทางการเมืองของธนาธรนั้น ธนาธรเรียนจบปริญญาตรีและโท และทำธุรกิจในเครือไทยซัมมิท ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายก รวมทั้งยังเคยชุมนุมทางการเมืองกับเอ็นจีโอและนปช.ก่อนมาตั้งพรรคอนาคตใหม่

“ซ้ายนายทุน” คือนิยามทางการเมืองของธนาธร


ธนาธรมีคดีความต่างๆ คือ คดีอาญาสามคดี คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสองคดี (วี-ลัค มีเดีย, บลายด์ ทรัสต์) คดีที่เกี่ยวกับพรรคห้าเรื่องที่นำไปสู่การยุบพรรคและการดำเนินคดีอาญากับกรรมการบริหารพรรคด้วย โดยการโอนหุ้นสื่อนั้นคือเรื่องใหญ่ที่สุดของธนาธร เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ในคุณสมบัติการลงสมัครส.ส.

กรรมเก่าไล่ล่า \'ธนาธร-อนาคตใหม่\' ทางวิบากกระทบ \'แม่-เมีย\' ?


วันที่ 8 มกราคม คือวันที่ธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นสื่อ และเดินทางกลับมา กทม.หลังจากไปหาเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ ก่อนที่จะไปสมัครส.ส.วันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่หลักฐานที่กระทรวงพาณิชย์รับเรื่องการโอนหุ้นตัวนี้มาคือวันที่ 21 มีนาคม ปัญหาคือโอนหุ้นก่อนหรือหลังวันที่สมัครส.ส. คดีนี้มีความสำคัญต่อชีวิตของธนาธร จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ว่าธนาธรจะจำรายละเอียดไม่ได้

การไต่สวนครั้งนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถซักถามพยานได้ และพยายามซักถามธนาธรในสิ่งที่อ้างว่าจำไม่ได้ กรณีนี้เชื่อว่าตุลาการจะมองว่าธนาธรเจตนาจำไม่ได้หรือไม่


          “วีระศักดิ์” ให้ความเห็นว่า ตารางงานของธนาธรนั้นเชื่อว่าทีมงานของธนาธรต้องมีบันทึกไว้


          “บากบั่น” กล่าวว่า การไต่สวนในคดีการโอนหุ้นสื่อดังกล่าวมีหลายคำถามในการไต่สวน แต่ธนาธรตอบหลักๆ ว่าจำไม่ได้ และอ้างว่าเหตุการณ์เกิดมาหลายเดือน การไต่สวนดังกล่าวนับว่าต้อนธนาธรเข้ามุมว่า วันที่โอนหุ้นกับวันหาเสียงนั้นมีการทำบันทึกตามตารางงานไว้หรือไม่ แม้ธนาธรจะอ้างว่าการหาเสียงสำคัญกว่าการโอนหุ้นก็ตาม


          ข้อสังเกตที่ธนาธรให้การคือการโอนหุ้นในวันดังกล่าวแม้จะอ้างว่าจำจำนวนหุ้นและราคาที่ซื้อมานั้นจำไม่ได้ แต่เช็คการโอนหุ้นลงวันที่ 8 มกราคมแต่เพิ่งนำเข้าบัญชีในเดือนพฤษภาคม (6,750,000 บาท) โดยธนาธรอ้างว่าไม่เดือดร้อนเรื่องเงินจึงไม่รีบขึ้นเช็ค มันคือจุดสำคัญที่ชี้ว่าธนาธรถือครองหุ้นสื่อหรือไม่

กรรมเก่าไล่ล่า \'ธนาธร-อนาคตใหม่\' ทางวิบากกระทบ \'แม่-เมีย\' ?


          “สมชาย” ประเมินว่า สิ่งที่ธนาธรอ้างแบบนี้มันไม่ใช่สามัญสำนึกของคนทั่วไป และก่อนวันตัดสินคดีของธนาธร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนัดหารือภายในและให้ไปเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน ก่อนจะเขียนคำวินิจฉัยกลาง ก่อนที่จะอ่านตัดสินตามที่กำหนดไว้ และให้คู่ความส่งคำแถลงปิดคดีมาก่อนวันตัดสินสิบห้าวัน ตรงนี้คือสิ่งที่ธนาธรลุ้นกับกรรมที่กระทำไว้ในวันตัดสินคดีนี้ (20 พ.ย.)

“วีระศักดิ์” วิเคราะห์ว่าพยานคนสำคัญในคดีนี้อีกคนหนึ่งคือ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธรที่สังเกตได้ชัดคือมีความตื่นเต้นและมีความจำที่ดีในการดำรงชีวิตในช่วงเบิกความต่อตุลาการ แต่ธนาธรอ้างเป็นหลักว่าจำไม่ได้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญของตัวเอง


          “สมชาย” กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งคือ เรื่องเงินกู้ที่ธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ไป 194 ล้านบาท จำนวนสองครั้ง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง ธนาธรเรียนจบปริญญาโทใบหนึ่งเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้


          “บากบั่น” ให้มุมมองว่าการปล่อยกู้เงินสองครั้งในช่วงสามเดือนในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งให้พรรคอนาคตใหม่ แม้จะอ้างว่ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ก็ตามแต่บัญชีทรัพย์สินที่ธนาธรยื่นต่อป.ป.ช.นั้น ไม่มีการระบุว่ารับเงินจากสมพร จำนวน 6,750,000 บาท แสดงว่าไม่ได้ลงรายการรายรับจากการขายหุ้นสื่อในการยื่นบัญชีต่อป.ป.ช.


          “สมชาย” กล่าวว่า กรณีนี้อาจมีความผิดที่ไม่แจ้งต่อป.ป.ช. และน่าตั้งคำถามว่าเช็คใบนี้ในการซื้อขายหุ้นสื่ออาจลงวันที่ย้อนหลัง

         
“วีระศักดิ์”
ถามว่าธนาธรมีเส้นทางทางการเมืองแบบนี้อนาคตจะเป็นเช่นใด


          “สมชาย” ระบุว่า ที่ผ่านมาพบว่าธนาธรไปเกี่ยวข้องหลายเรื่องทางการเมือง เช่น พรรคอนาคตใหม่รณรงค์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้งยี่สิบแปดครั้ง โดยเสนอตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ อย่าลืมว่ากรณีมาตราหนึ่งที่นักวิชาการเสนอแก้ไขจนมีการยื่นดำเนินคดีร่วมกับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมยูเอ็นก็พบว่าล็อบบี้ยิสต์ที่ธนาธรจ้างไว้ในช่วงเดินทางไปต่างประเทศนั้นมีการเคลื่อนไหวประท้วงนายกรัฐมนตรีโดยล็อบบี้ยิสต์ที่ธนาธรจ้างไว้ไปดำเนินการ และเรื่องนี้ธนาธรโดนวิจารณ์เยอะ การถ่ายภาพกับโจซัว หว่อง แกนนำชาวฮ่องกงที่ประท้วงรัฐบาลจีนจนโฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทำให้ ผบ.ทบ. ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับท่าทีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

“ไชยันต์ ไชยพร" นักวิชาการรัฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า “หากตัดสิทธิทางการเมืองธนาธรคนเดียว (กรณีถือหุ้นสื่อ) พรรคอนาคตใหม่คงพยายามเดินหน้าได้และผู้สนับสนุนน่าจะเห็นใจเพิ่มขึ้น เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินเพราะดูจากผลกระทบทางการเมือง”

กรรมเก่าไล่ล่า \'ธนาธร-อนาคตใหม่\' ทางวิบากกระทบ \'แม่-เมีย\' ?
         

“บากบั่น” ตั้งคำถามว่าแรงเหวี่ยงในความเห็นใจธนาธรจากคดีหุ้นสื่อแม้จะเพิ่มขึ้นแต่กรรมที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเจอนั้นมีอะไรอีก และการเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคนี้นั้นตอบโจทย์หรือไม่


          “สมชาย” กล่าวว่า ไม่กี่วันก่อนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 70 คะแนน อนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562


          แต่ส.ส.เจ็ดสิบคนของพรรคอนาคตใหม่ลงมติไม่เห็นด้วยนั้น เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ใช้คำพูดที่ฉวัดเฉวียนในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และพบว่าส.ส.บางส่วนของพรรคนี้ไม่มาร่วมประชุม บางคนงดออกเสียงและส.ส.บางส่วนลงมติเห็นด้วยในร่างกฎหมายฉบับนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน


          หลังเสร็จสิ้นการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้แกนนำพรรคบางคนแสดงความชื่นชมเจ็ดสิบส.ส.ที่แสดงจุดยืนชัดเจน มันสื่อความว่าพรรคอนาคตใหม่เดินในเส้นทางใด


          ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางคนที่ลงมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดเผยว่าหัวหน้าพรรคมีความขัดแย้งกับส.ส.และสมาชิกพรรคในเรื่องการส่งผู้สมัคร อบจ. และการแบ่งหน้าที่กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎร


          “วีระศักดิ์” กล่าวสรุปว่า แบบนี้พรรคอนาคตใหม่ร้าวแล้ว เพราะส.ส.บางคนของพรรคที่โหวตสวนมติพรรค ตอบคำถามในโลกออนไลน์ว่า เหตุที่ลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะเทิดทูนสถาบัน


          ส.ส.บางคนที่งดออกเสียงเพราะทราบถึงโครงการในพระราชดำริที่สร้างประโยชน์ในพื้นที่ของส.ส.คนนั้น


          ทราบมาว่าก่อนหน้านี้มีส.ส.สิบคนจะลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ตามแนวคิดของแกนนำพรรค แต่แกนนำพรรคบางคนไปล็อบบี้ให้ส.ส.ที่เหลือต้องทำตามมติพรรค และความเห็นของธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระที่แสดงความเห็นล่าสุดเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่รวมทั้งพรรคเพื่อไทยที่ยังใช้วิธีโหนกระแสสังคมไม่มีการสร้างหรือแสดงจุดยืนของตัวเองเพื่อตอบโจทย์สังคม


          “ไชยันต์ ไชยพร” นักวิชาการรัฐศาสตร์แสดงความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพรรคนี้ว่า "ก่อนเลือกตั้งเลขาธิการพรรคเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ และหัวหน้าพรรคสนับสนุนหนังสือฟ้าเดียวกัน และเมื่อสองคนนี้มาร่วมตั้งพรรคอนาคตใหม่เป็นสิ่งที่ดีที่เปิดตัวต่อสู้ทางความคิดในรัฐสภา และไปโดยใจผู้สนับสนุนพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่และคนรุ่นต่างๆ ในสังคมที่เบื่อพรรคอื่นๆ


          การปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยพรรคนี้แสดงออกมานั้น หากว่าวันนั้นไม่มีพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐให้มาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในช่วงหาเสียง เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่อาจไม่เติบโตแบบนี้ แต่เมื่อการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คนบางส่วนที่หนุนพรรคนี้ต่อต้านระบบสืบทอดอำนาจ"


          พรรคอนาคตใหม่มีคนเดือนตุลาที่เคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทยมาช่วยงานเบื้องหลัง สังคมน่าจะรู้ความเคลื่อนไหวของพรรคนี้ชัดเจนขึ้นหลังการตัดสินคดีการถือหุ้นสื่อของธนาธร