เช็คให้ชัวร์! เท้าแชร์แบบไหน เจอแล้วต้องหนีให้ไกล!!

เช็คให้ชัวร์! เท้าแชร์แบบไหน เจอแล้วต้องหนีให้ไกล!!

เคส “แชร์แม่มณี” ทำพิษ!! ชวนเปิดกฎหมาย เช็คให้ชัวร์ เล่นแชร์แบบไหนไม่ผิดกฎหมาย พร้อมจุดสังเกตเท้าแชร์แบบไหน..เจอแล้วต้องหนีให้ไกล!

ถือเป็นเรื่องเดิมที่วนมาเป็นข่าวใหญ่ในทุกครั้งที่ ‘เท้า ชิ่งหนี ทิ้งลูกแชร์ตาดำๆ ตบเท้าไปแจ้งความ และอยู่กับความหวังว่า จะมีโอกาสได้เงินคืนไหม ? อย่างกรณีล่าสุดที่ครึกโครมอยู่ตอนนี้ คือ เคส "แชร์แม่มณี" ที่มูลค่าความเสียหายหลักร้อยล้านบาท และมีเจ้าทุกข์ทยอยตบเท้าออกมาแจ้งความอย่างต่อเนื่อง

เชื่อว่า หลายคนพอเห็นข่าวลูกแชร์ไปร้องทุกข์แล้วต้องคิดว่า จะไปฟ้องใครได้ ในเมื่อเป็นเรื่องผิดกฎหมาย.. เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะที่จริงแล้ว เราสามารถเล่นแชร์อย่างถูกกฎหมายได้ หากเล่นตามกรอบ กติกาที่กฎหมายวางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมีบทลงโทษเมื่อเกิดความเสียหาย

หลังพิษจากแชร์แม่มณีเมื่อปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ให้ข้อมูลอธิบายถึงการเล่นแชร์ที่มีความผิด ไม่ว่าจะเป็นแชร์ออฟไลน์แบบคอนเซอร์เวทีฟ จนถึงวงแชร์ออนไลน์ที่กำลังแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะผ่านแอปพลิเคชั่นไหน โซเชียลค่ายอะไร หากมี “พฤติกรรม” เหล่านี้ ก็ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดได้ เมื่อเท้าแชร์หรือเจ้ามือ ทำ “นอกกติกา” ที่กฎหมายระบุไว้

ในที่นี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด คือ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2536, ประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง และ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบและพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า “แชร์ออนไลน์” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 การเล่นแชร์ออนไลน์ที่มีพฤติการณ์แบบขอกู้หนี้นอกระบบ คือ เท้าแชร์หรือเจ้าหนี้จะเชิญเพื่อนจากเฟซบุ๊กมาตั้งกลุ่มในไลน์ มีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบแอบแฝงแชร์ออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเล่นแชร์ระยะสั้น ๆ ที่ประกาศเปิดวงแชร์ โดยเงินที่ประมูลเป็นเงินของเท้าแชร์ และให้สมาชิกในกลุ่มประมูลหรือเสนอเงินดอกเบี้ยที่สูงพร้อมกำหนดการส่งเงินดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่แน่นอน ซึ่งอาจจะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

แบบที่ 2 การเล่นแชร์ออนไลน์แบบแชร์ทั่วไป แต่อาศัยสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 และ ประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง โดยมีการตั้งกลุ่มเชิญเพื่อนจากเฟซบุ๊กมาตั้งกลุ่มในไลน์ ซึ่ง “มีสมาชิกจำนวนมากจึงตั้งเป็นหลายวง”  มีกำหนดส่งเงินเป็นงวด งวดเท่ากันตามจำนวนมือที่เล่น และ “มีการเก็บค่าดูแลวงแชร์” เมื่อสมาชิกส่งเงินงวดให้ตามกำหนดพร้อมทั้งประมูลหรือเปียแชร์ โดยเสนอดอกเบี้ยที่สูงที่จะจ่ายในงวดต่อไป ผู้ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินกองกลางไป แต่ “เท้าแชร์ไม่ส่งเงินให้กับสมาชิกที่ประมูลได้ตามจำนวนของวงเงินที่กำหนดไว้” ที่จะจ่ายในงวดต่อ ๆ ไป

หรือ “เท้าแชร์หลอกลวงโดยไม่มีการประมูลจริง” ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะการโกงแบบมีหน้าม้า มาปั่นดอก ไปจนถึงการสร้างเรื่องทั้งหมดโดยไม่ได้เกิดการเล่นแชร์จริงๆ เลย ซึ่งกรณีนี้สมาชิกที่ร่วมเล่นจะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก

ทั้งนี้ เรามีหลักเกณฑ์เบื้องต้น สำหรับลูกแชร์มือใหม่ ที่อาจไม่สันทัด หรือตัดสินใจไม่ได้ว่าจะร่วมลงเงินกับแชร์วงไหนดีนั้น หลักเบื้องต้น คือ ขอให้ดูที่ “เท้าแชร์” ซึ่ง “ตั้งวงอย่างถูกกฎหมาย” เสียก่อน โดยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 กำหนด “เท้าแชร์ต้องห้าม” ไว้ด้วยกัน 4 เรื่อง ดังนี้

1) เป็นเท้าแชร์ที่เปิดวงแชร์พร้อมกันมากกว่า 3 วง

2) เป็นเท้าแชร์ที่มีลูกแชร์ทุกวงรวมกันมากกว่า 30 คน

3) เป็นเท้าแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท

4) เท้าแชร์นั้นได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในงวดใดงวดหนึ่งโดยไม่เสียดอกเบี้ย

และ! ขอให้ดอกจันตัวโตๆ ด้วยว่า หากมีบุคคลหรือนิติบุคคลใดมารับประกันความเสี่ยงว่า จะชดใช้แทนเท้าแชร์ให้นั้นก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าใครมายืดอก รับประกันความเสี่ยงให้วงแชร์ไหน รู้ไว้เลยว่า ไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับประชาชนที่ร่วมเล่นแชร์แล้วเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เพื่อไม่ให้ขาดอายุความคดีอาญา) หรือส่งเรื่องร้องเรียนมาที่สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. ซึ่ง สศค. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

(ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊คสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office)