‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง

คนไทยรักอาหารญี่ปุ่นเหมือนอาหารจานหลักจานที่ 2 ก็ไม่ปาน ในปี 67 มีร้านอาหารญี่ปุ่น เฉียด 6,000 แห่ง ซูชิยังคงเป็นตลาดที่แข่งขันเดือดที่สุด

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) พบ คนไทยรักและชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ดันร้านอาหารแดนอาทิตย์อุทัยโตต่อเนื่อง ปี 2567 มีร้านเกือบ 6,000 แห่งในประเทศไทย

คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ เผยว่า ในปี 2567 ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ระดับ 2.9% แตะ 5,916 แห่งในไทย ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนต่างจังหวัดเติบโต 3.1% โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวของไทยอย่างเชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งเชียงใหม่มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มราว 23 ร้าน รวม 280 ร้าน และภูเก็ตมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นราว 11 ร้าน รวมเป็น 142 ร้าน ขณะที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นจ.ปริมณฑลเพิ่มขึ้น 15 ร้าน รวม 104 ร้าน

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง
สุดะ โยชินาริ ผู้อำนวยการแผนกเกษตรและอาหาร เจโทร กรุงเทพฯ (ซ้าย)   คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ (ขวา)

 

ทั้งนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เจโทรสำรวจเป็นร้านอาหารที่มีเมนูอาหารญี่ปุ่นเกินครึ่งหนึ่งของเมนูทั้งหมด และมีการจัดที่นั่งสำหรับลูกค้าแบบถาวร ไม่รวมร้านบริการดิลิเวอรีอย่างเดียว และร้านที่ไม่มีที่นั่งสำหรับทานในร้าน ดังนั้น กรุงเทพธุรกิจอนุมานได้ว่าไทยยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นอีกมาก 

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง

ร้านซูชิยังคงแข่งขันสูง

เมื่อจำแนกตามประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นพบว่า ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุด 1,439 ร้าน รองลงมาเป็นร้านซูชิ และร้านราเมง

อย่างไรก็ตาม ร้านซูชิที่เป็นแชมป์ระเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากที่สุดในไทย ตั้งแต่ 2563-2566 กลับลดลง 6.8% ในปีที่แล้ว เหลือ 1,279 ร้าน ซึ่งถือเป็นร้านที่ลดลงมากที่สุด

จากการสอบถามผู้ประกอบการ ประธานเจโทรเผยว่า ตลาดร้านซูชิในไทยยังคงแข่งขันสูง ร้านซูชิคุณภาพดีและราคาถูกมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซูชิที่มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไทยเข้าถึงได้ง่าย และส่งผลกระทบให้ร้านซูชิต้องแข่งขันกันที่ราคา จึงทำให้ร้านที่แข่งขันไม่ไหวต้องออกจากตลาด

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง

‘คาเฟญี่ปุ่นโต’ รับกระแสท่องเที่ยวในไทย

หนึ่งในประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจคือ ร้านอาหารประเภท “คาเฟ” เจโทรระบุว่า ร้านอาหารประเภทนี้เป็นร้านที่เน้นจำหน่ายชาเขียวญี่ปุ่น ขนมปังและขนมชนิดต่างๆ ของญี่ปุ่น ในปีที่แล้วคาเฟญี่ปุ่นเติบโต 13.1% หรือเพิ่มขึ้นราว 38 สาขา โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่และภูเก็ต 

คุโรดะ จุน เผยว่า จำนวนร้านคาเฟญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนมาจากการท่องเที่ยวในไทย และร้านคาเฟ เช่น ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม เป็นร้านที่ไม่ได้ใช้ทักษะมากนักเมื่อเทียบกับการทำร้านอาหาร คาเฟจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเริ่มต้นธุรกิจ

ทั้งนี้ เจโทรจำแนกประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยโดยแบ่งเป็น 13 ประเภท ได้แก่ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซูชิ ราเมง อิซากายะ สุกี้/ชาบู ยากินุกุ/บาร์บีคิว คาเฟ ดงบุริ เมนูแกงกะหรี่ อาหารตะวันตกสไตล์ญี่ปุ่น อาหารทอด เทปปันยากิ และโซบะ/อุด้ง

ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาต่อหัว 1,000+ เพิ่มขึ้นมาก

ระดับราคาอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมรับประทานมากที่สุด ยังคงเป็นระดับราคา 101-250 บาท ในปี 2567 เห็นได้จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่จำหน่ายในราคานี้มีจำนวนมากที่สุด 2,057 แห่ง รองลงมาเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นระดับราคา 251-500 มี 1,401 แห่ง และอันดับที่ 3 คือร้านอาหารญี่ปุ่นราคาต่ำกว่า 100 บาท มี 749 แห่ง

หากเทียบอัตราการเติบโต กลับพบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีราคาต่อหัวมากกว่า 1,000 บาทเติบโต 13.9% ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 33 สาขา และพบว่าทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดล้วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง

เจโทรเผยว่า แม้กำลังซื้อในไทยลดลงเพราะหลายปัจจัย แต่สิ่งที่ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมเติบโตมากขึ้นมาจากลูกค้าที่มีความต้องการ 2 ขั้ว แม้ส่วนใหญ่ลูกค้าต้องการรับประทานอาหารราคาถูก แต่บางครั้งหรือบางโอกาสลูกค้าจะหันไปบริโภคอาหารราคาแพงด้วย

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ โตต่อเนื่อง ปี 67 เฉียด 6,000 ร้านในไทย ซูชิยังคงแข่งขันสูง

ทั้งนี้ โดยรวมแล้วร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง ขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของไทยก็ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ธุรกิจอาหารจึงต้องปรับตัวอย่างแข็งขัน เช่น ออกโปรโมชันที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การขยายตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นยังมีอุปสรรคในด้านราคาวัตถุดิบแพง ค่าแรงและค่าเช่าพื้นที่สูง ขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดของไทยยังคงต้องเรียนรู้ และหาวิธีรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นเพื่อนำเสนออาหารที่ตอบโจทย์และตรงกลุ่ม

สำหรับคาดการณ์ในอนาคต เจโทรยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่นยังคงเติบโตในไทยในปี 2568 แต่ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ร้านอาหารต่อหัวในไทยที่มีมากกว่าประเทศอื่น ประชากรลด คนโสดที่เพิ่มขึ้น (สร้างครอบครัวน้อยลง) อาจซื้อวัตถุดิบมาทำเองที่บ้านน้อยลง

อย่างไรก็ดี ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าวัฒนธรรมการกินมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการส่งออกวัตถุดิบ และประเทศไทยก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนจำนวนมาก จึงคาดว่าจะช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นได้มากขึ้นไปอีก