อำนาจ 'กมธ.' สภาพบังคับ
แม้จะอยู่ในช่วงที่ ส.ส. ปิดเทอม แต่ทว่าความเคลื่อนไหวแถวรัฐสภาเกียกกายยังคึกคักไปด้วย การประชุมคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ
โดยเฉพาะในวันนี้(30ต.ค.) ซึี่งกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร หรือ “กมธ.ป.ป.ช.” ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน
วาระสำคัญที่น่าจะมีการพูดถึงนั่นคือการเรียก “พี่น้อง2ป.” คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม และ “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเข้าชี้แจงประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังการออกพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งสภาฯได้เห็นชอบวาระ1ไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดมีคำยืนยันจากทางฝั่ง2บิ๊กรัฐบาลแล้วว่าจะไม่เดินทางไปที่รัฐสภาอย่างแน่นอน โดยในส่วนของพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร เลือกที่จะส่งหนังสือชี้แจงแทน สอดรับกับท่าทีจากทางสำนักเลขาธิการนายกฯที่ส่งหนังสือไปยังกมธ.เกี่ยวกับความชัดเจนในเรื่องการใช้อำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวได้มีการวินิจฉัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว
คอการเมืองที่ได้ติดตามข่าวสารในช่วงหลายวันที่ผ่านมา น่าจะทราบดีว่าประเด็นนี้เกิดคำถามเกี่ยวกับอำนาจของกมธ.ชุดต่างๆของสภาฯว่า มีอำนาจเรียกใครก็ได้มาชี้แจงได้จริงหรือ?
เรื่องนี้ต้องไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 129 ระบุว่า กมธ.มีอํานาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงได้ และดูเหมือนว่ากมธ.มีอำนาจมากจริงๆ แต่บรรดากูรูทั้งหลายต่างฟันธงว่า ก็ยังไม่ถึงกับมีสภาพบังคับเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี50 ตรงที่ยังมีการออกกฎหมายที่มีสภาพบังคับ เช่นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกคำสั่งเรียกของกมธ.สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ. 2554 หากไม่ยอมจัดส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงก็จะมีความผิด
แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแล้ว แต่กฎหมายเก่ายังอยู่ และไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการตีความว่า ตกลงกมธ.ยังมีอำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจงหรือไม่
ขณะเดียวกันผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯด้านกฎหมาย หรือ “ชวน หลักภัย”ประธานสภาต่างระบุในทำนองเดียวกันว่า แม้กมธ.มีสิทธิในการเรียกบุคคลเข้าชี้แจง แต่ก็เป็นสิทธิของผู้ถูกเรียกเช่นกันว่า จะไปชี้แจงเอง ส่งหนังสือชี้แจง หรือให้ใครไปชี้แจงแทนก็ย่อมได้เช่นกัน...