สหรัฐฯ ตัดจีเอสพี ธุรกิจไทยต้องเตรียมรับความไม่แน่นอน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะธุรกิจไทยเร่งพัฒนา ยกระดับการผลิตสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รับมือกับการถูกตัดสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานวิเคราะห์เรื่อง “สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP: แรงกดดันระลอกใหม่ ... ธุรกิจไทยจำเป็นต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนต่อจากนี้” โดยระบุว่า การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไปหรือ GSP (Generalized System of Preferences) ที่ให้แก่ไทยรวม 573 รายการ มีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือวันที่ 25 เมษายน 2563
สินค้าที่ถูกตัดสิทธิหรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวม 4.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 และเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 3.18 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และมีสัดส่วนราวร้อยละ 4.1 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ก็จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP มีสัดส่วนไม่สูงนัก
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกในภาพรวม 30 รายการแรก ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (เรียงลำดับ HS Code 8 หลัก) รวมแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 53.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP เพียง 4 รายการ อาทิ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และเลนส์ อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ยังไม่ถูกตัดสิทธิยิ่งชี้ว่าการตัดสิทธิ GSP บางรายการดังกล่าวแทบไม่มีผลต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี หากทางการสหรัฐฯ ไม่มีการผ่อนผันใดๆ ให้กับสินค้าไทยและยังเดินหน้าตัดสิทธิ GSP ตามรายการดังกล่าวในวันที่ 25 เมษายน 2563 ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญภาระต้นทุนด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทันทีจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมาก มีผลให้สินค้าไทยสูญเสียความได้เปรียบด้านราคาเมื่อนำเข้าไปทำตลาดในสหรัฐฯ โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกับประเทศที่ยังได้สิทธิ GSP อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณา 2 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านราคาที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการสูญเสียสิทธิทำให้ต้องเสียภาษีในอัตรา MFN โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น คือ สินค้าที่ต้องเสียภาษีสูงกว่าอัตรา MFN เฉลี่ยของสหรัฐฯ (ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4) และจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้สิทธิ GSP เพื่อสร้างแต้มต่อด้านราคาในการทำตลาด
มิติที่ 2 ระดับการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ถ้าหากสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ สูง ยิ่งบ่งบอกว่าสินค้าไทยก็จะยังคงทำตลาดได้แม้ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งระดับผลกระทบที่ได้รับก็จะลดน้อยลงตามศักยภาพของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวมแม้มีไม่มาก แต่สำหรับภาคธุรกิจก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบน้อย: เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยแข็งแกร่งและมีความโดดเด่นสูง จากข้อได้เปรียบที่สินค้าไทยสามารถครองตลาดสหรัฐฯ ได้ค่อนข้างสูง ทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่น แม้ว่าสินค้าไทยจะมีราคาสูงขึ้น แต่ก็ยากที่คู่แข่งจะเข้ามาแทนที่ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเตรียมแผนรับมือกับต้นทุนการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นตามอัตราภาษี MFN ที่แตกต่างกันไปเพื่อรักษาตลาดนี้ไว้ โดยสินค้าไทยในกลุ่มนี้ ไทยมีจุดเด่นในตัวเองจึงมีโอกาสทำตลาดได้ แต่อัตราภาษีก็มีผลต่อการทำตลาดในระดับแตกต่างกันไปในรายสินค้าและรายบริษัท ตามเงื่อนไขแวดล้อมที่แต่ละรายเผชิญ ดังนี้
–กลุ่มที่อัตราภาษีที่เปลี่ยนไปไม่สูงนักจึงไม่มีผลต่อราคาสินค้า กล่าวคือ กลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันใช้สิทธิ GSP ค่อนข้างน้อย และไทยเป็นแหล่งนำเข้าในลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ทิ้งห่างคู่แข่งที่สำคัญพอสมควร ดังนั้น การได้สิทธิ GSP หรือไม่ก็อาจไม่มีผลต่อราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ หลอดไส้ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.5) แว่นตากันลม/ฝุ่น (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.0) และตัวจุดระเบิดไฟฟ้า (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.7) มีอัตราภาษี MFN อยู่ที่ร้อยละ 0.2-6.0
–กลุ่มที่การตัดสิทธิ GSP มีผลต่อราคาสินค้า แต่สินค้าไทยจะยังสามารถครองตลาดได้ กล่าวคือ เป็นกลุ่มสินค้าที่มียอดการใช้สิทธิ GSP ในสัดส่วนที่สูง และครองส่วนแบ่งตลาดสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ที่สหรัฐฯ นำเข้า อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียคำสั่งซื้อบางส่วนไป เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นตามอัตราภาษี อาทิ เครื่องประดับเทียม (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.5) มะม่วงแปรรูป (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40.9) พาสต้าอื่นๆ (มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 7.4) เนื้อปลาแช่เย็น-แช่แข็ง (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.3) และอ่างสุขภัณฑ์เซรามิก (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.1) มีอัตราภาษี MFN อยู่ที่ร้อยละ 5.8-11.0
2. กลุ่มสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบมาก: เนื่องจากสินค้าชาติอื่นสามารถเข้ามาทดแทนสินค้าของไทยได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงสูญเสียตลาดสูง ผู้ประกอบการจึงต้องทำงานหนักเพื่อเตรียมรับมือกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรง จากการต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าอัตรา MFN เฉลี่ยของสหรัฐฯ (ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4) สะท้อนให้เห็นว่า ในระยะที่ผ่านมา การได้รับสิทธิ GSP มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างแต้มต่อด้านราคาให้แก่สินค้าไทยเพื่อทำตลาด
ดังนั้น สินค้ากลุ่มนี้จึงเผชิญอัตราภาษีสินค้าที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ประกอบกับสินค้าไทยเองก็มีบทบาทในตลาดสหรัฐฯ เรียกได้ว่าน้อยมาก ตัวอย่างเช่น ตะกั่วที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดล้วนพึ่งพาสิทธิ GSP หรือกุญแจที่ใช้กับยานยนต์ ที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 5 มีส่วนแบ่งตลาดน้อยเพียงร้อยละ 3.5 ของการนำเข้าทั้งหมดจากทั่วโลก แต่ต้องเผชิญอัตราภาษี MFN ที่ร้อยละ 5.7 อีกทั้งยังเผชิญกับผู้เล่นหลักที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสูงกว่าอย่างเม็กซิโก แคนาดา และจีน
ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ของไทยก็เผชิญสถานการณ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น สารประกอบอินทรีย์และอนินทรีย์อื่นๆ ผลิตภัณฑ์เซรามิก หมวก กระเป๋าเดินทาง และโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องประดับของไทย ที่ตลอดมาพึ่งพิงการใช้ GSP ก็คงจะต้องกลับมาแบกรับอัตราภาษี MFN ที่ร้อยละ 3.0-13.9
จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วผลจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ แต่ด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงความอ่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันเป็นผลสืบเนื่องของสงครามการค้า ประกอบกับความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งผลกระทบต่อความท้าทายด้านการส่งออกในระยะต่อไป
ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าในปี 2562 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจจบปีด้วยมูลค่าที่เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 หลังจากที่ 9 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 14.1 (YoY) แต่สำหรับปี 2563 ด้วยผลของฐานการส่งออกในปี 2562 ที่สูง ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความซบเซาของการค้าและทิศทางค่าเงิน จะเป็นปัจจัยหลักที่ให้ภาพการส่งออกในปี 2563 ไม่สดใสเท่าที่ควร ขณะที่การถูกตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบในวงจำกัด
ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยการลดทอนสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแรงกดดันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อไทยที่ยังต้องติดตามต่อไปว่า ทางการสหรัฐฯ จะผ่อนผันการตัดสิทธิให้กับไทยได้แค่ไหน ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้นได้อีก หากสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันไทยโดยตรงมากขึ้นหลังจากนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางการไทยจะอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาในประเด็น GSP กับทางการสหรัฐฯ แต่ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน สิ่งหนึ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องเร่งพัฒนาก็คือการยกระดับการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตของไทยให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าให้มากขึ้น ทั้งการสร้างความโดดเด่นหรือการเน้นจับตลาดเฉพาะ (Niche Market) เพื่อทำให้สินค้าไทยมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด อันจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาหรือลดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางภาษี รวมถึงสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก