"จีน-มาเลย์"จี้อาเซียนผนึกกำลังรับมือลัทธิกีดกันการค้า

"จีน-มาเลย์"จี้อาเซียนผนึกกำลังรับมือลัทธิกีดกันการค้า

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้นำจีนและมาเลเซีย เรียกร้องให้อาเซียนผนึกกำลังกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้นเพื่อรับมือผลพวงจากการกีดกันการค้า

“หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ ก่อนที่จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน (10+1) ครั้งที่ 22, การประชุมอาเซียน-จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (10+3) ครั้งที่ 22 และ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพ โดยกลุ่มอาเซียนประกอบไปด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม

หลี่ เริ่มต้นบทความที่มีชื่อว่า “การทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่สดใสของความร่วมมือในเอเชียตะวันออก” ด้วยการแสดงความยินดีในการเยือนประเทศไทย และเข้าร่วมการประชุมผู้นำประจำปีเกี่ยวกับความร่วมมือในเอเชียตะวันออก โดยเขากล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเยือนประเทศไทยครั้งที่สามของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีจีน

บทความของหลี่ ระบุว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน และอาเซียนได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับสองในบรรดาคู่ค้าของจีนในปีนี้ ผลิตภัณฑ์พิเศษจำนวนมากของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ครัวเรือนจีน ขณะที่ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ผลิตในจีน ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

หลี่ ระบุว่า เอเชียตะวันออกเป็นเครื่องจักรที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เอเชียตะวันออกได้รักษาสันติภาพและความมั่นคงโดยรวม และประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สร้างความประทับใจให้กับโลก

“เราประสบความสำเร็จร่วมกันในการจัดการผลกระทบของวิกฤตการเงิน 2 ครั้ง, ส่งเสริมการเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ทำให้เอเชียตะวันออกกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีพลวัตและมีแนวโน้มที่ดีที่สุดในโลก”หลี่ ระบุ

หลี่ ยังเน้นย้ำถึงความท้าทายของแรงกดดันขาลงต่อเศรษฐกิจโลก, ลัทธิปกป้องการค้าและการกระทำเพียงฝ่ายเดียวที่เพิ่มขึ้น โดยเขาเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรกับการขจัดความเสี่ยง, รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ, เพิ่มความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เพื่อผลักดันความร่วมมือและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อไปนั้น นายหลี่ได้เน้นย้ำใน 4 ด้าน ได้แก่ การรักษาสันติภาพและความมั่นคง, การส่งเสริมการเปิดกว้างและความร่วมมือ, การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รวมถึงการยึดถือการเจรจาและการปรึกษาหารือ

หลี่ ยังระบุถึงการฉลองครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตจีน–ไทยในปีหน้าว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและไทย จะเริ่มต้นขึ้นใหม่

“ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อเพิ่มความร่วมมือในด้านที่มีความสำคัญ เช่น การเชื่อมต่อ, นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี, ความสามารถทางอุตสาหกรรม และความร่วมมือจากบุคคลที่สาม โดยความพยายามเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทั้งสองประเทศของเรา และเป็นประโยชน์มากขึ้นกับประชาชนของเรา”นายกรัฐมนตรีจีน ระบุ

หลี่ ปิดท้ายว่า “เราจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมมิตรภาพจีน-ไทยที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำหนดอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับความร่วมมือของเอเชียตะวันออกยุคใหม่”

ด้าน“มหาธีร์ โมฮัมหมัด”นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในเวทีผู้นำภาคธุรกิจและการลงทุน (ASEAN Business and Investment Summit 2019 : ABIS) ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และโลกที่เกิดจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ว่า ตอนนี้คงต้องรับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งตกอยู่ในภาวะการชะลอตัว หากแต่เศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดใหญ่พอที่จะต่อรองกับมหาอำนาจโลกได้

มหาธีร์กล่าวว่า ถ้าอาเซียนต้องการเป็นผู้ที่ถูกรับฟัง ก็ต้องมีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอ สำหรับตนมองว่า อาเซียนมีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งการผนึกกำลังรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แล้วสะท้อนความเห็นให้บางประเทศมหาอำนาจ(สหรัฐ) รับรู้บ้างก็สามารถทำให้เค้าได้ยินเสียงบ้าง แต่ถ้าอาเซียนแตกแถวหรือทำอยู่ประเทศเดียวก็มีโอกาสอาจพ่ายแพ้

“ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่า การที่อาเซียนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวและสะท้อนท่าทีออกไป ก็มีโอกาสเจอบางประเทศมหาอำนาจที่งี่เง่า และขี้กลั่นแกล้ง ถ้าเมื่อถึงเวลาเจอคนไม่ประสงค์ดีกับเรา บางทีคงไม่ต้องทำตัวดีนักก็ได้เพื่อให้เป็นที่ถูกใจ แต่ควรตอบโต้ด้วยการเป็นคนไม่ดีใส่กับคนแบบนี้ เพื่อทำให้รู้สึกบ้างว่า อาเซียนไม่ได้เป็นเด็กดีเสมอไป” มหาธีร์ย้ำ

พร้อมกันนี้ มหาธีร์ยังยกตัวอย่างการที่สหรัฐกีดดันทางการค้า โดยการสั่งลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ซึ่งผู้นำมาเลเซียได้ใช้วิธีตอบโต้ด้วยการลดนำเข้าพลังงานจากสหรัฐ หรือการพิจารณายกเลิกสั่งซื้อเครื่องบิน แล้วหันไปซื้อกับรัสเซียแทน

มหาธีร์ ย้ำว่า อย่าลืม ขนาดทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนถือได้ว่า มีอำนาจการต่อรองที่แข็งแกร่งต่อรองกับมหาอำนาจ หากแต่กรณีที่โชคร้ายที่สุด ถ้าประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ สามารถชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่ 2 แน่นอนว่า คนทั่วโลกก็จะต้องทนคนแบบนี้ไปอีก 5 ปี และคนอเมริกันก็ไม่ได้ยอมรับและมีความสุขกับนโยบายของทรัมป์ทั้งหมดแต่อย่าลืมว่า ท้ายที่สุดประชาชนทุกคนในอาเซียน และทั่วโลกสามารถดีไซน์การค้าในโลกได้ ไม่ใช่อยู่ภายใต้คนๆเดียว

มหาธีร์ ชี้ว่าอาเซียนมีประชากรกว่า 650 ล้านคนถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีกว่า 1,400 ล้านคน จะเห็นว่า จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มากว่าหนึ่งเท่าตัว แต่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เพราะใช้ประโยชน์จากประชากรที่มีจำนวนมาก ซึ่งภูมิภาคอาเซียนควรมองจีนเป็นแบบอย่าง และใช้ประโยชน์จากประชากรอาเซียนที่มีอยู่เพื่อขยายเศรษฐกิจและเอ็มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะต้องทำให้เป็นตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง

ผู้นำมาเลเซีย มองว่า สิ่งแรกที่อาเซียนต้องทำเพื่อเตรียมความพร้อมรับกับเศรษฐกิจ4.0 คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ และให้การศึกษากับคน เพื่อเข้าใจระบบเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และผลกระทบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ

โดยเฉพาะทำให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคนึกถึงเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และตระหนักรู้ว่าตลาดภายในภูมิภาคมีความสำคัญ สามารถทำการค้าระหว่างกันภายในอาเซียนเองได้ ถัดไปจึงจะเป็นการส่งออกสินค้าระหว่างภูมิภาค เน้นการอัพเกรดผลิตภัณฑ์สินค้าในเชิงเทคโนโลยีมากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในภูมิภาคอาเซียนด้วย