'จีน-เมริกา'
จากเมื่อก่อนหลายคนมองว่าเศรษฐกิจจีนและสหรัฐเชื่อมโยงกัน แต่วันนี้กลับต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์เชื่อมโยง
Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวสหรัฐ เคยตั้งชื่อ "จีนเมริกา" (Chimerica) เพื่อสะท้อนว่าเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐ เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน
ในหนังสือเล่มใหม่ของผม ชื่อ "จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0" (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บุคสเคป) ผมย้ำเน้นว่า เทรนด์ใหญ่ที่สุดในช่วงสิบปีต่อจากนี้ จะเป็น "ขีดคั่น" ที่อยู่ตรงกลางแบ่งแยกจีนเมริกา นั่นคือ การพยายามแยกเศรษฐกิจทั้งสองประเทศออกจากกัน ภาษาวิชาการของฝรั่งที่ใช้กันมากตอนนี้คือ "การแยกตัวครั้งใหญ่" (The Great Decoupling)
สมัยก่อน หลายคนมองว่าเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐที่เชื่อมโยงกัน เป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย เพราะจะได้ไม่ต้องเกิดสงครามเย็นแบบในสมัยที่สหรัฐแข่งกับสหภาพโซเวียตได้อีก ทั้งจีนและสหรัฐจะได้ค้าขายกันให้ร่ำรวย เข้าทำนองวินวินทั้งคู่
แต่ในวันนี้ ความเห็นร่วมในหมู่ชนชั้นนำในสหรัฐ กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือต่างไม่ต้องการรักษาความเชื่อมโยงระหว่างสองเศรษฐกิจอีกต่อไป แถมต้องการเดินหน้าค่อยๆ แยกตัวออกจากกัน
เหตุผลแรก เพราะหลายคนมองว่า ความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดในอดีตที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐเสียอำนาจในการต่อรองกับจีน เพราะต้องเกรงใจจีน ไม่เช่นนั้นบริษัทสหรัฐจำนวนมากในจีนคงถูกรัฐบาลจีนเล่นงาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นสหรัฐเล่นบทบาทเชิงรุกลดลงในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน เมื่อเปรียบเทียบกับในยุคก่อนหน้านี้
เหตุผลที่สอง เพราะสหรัฐเริ่มมองว่าเทคโนโลยียุคใหม่มีปัจจัยเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น เมื่อจีนมีนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งต้องการให้บริษัทจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ในอนาคตสินค้าเทคโนโลยียุคใหม่ย่อมต้องมีชิ้นส่วนจากจีน อีกทั้งปัจจุบันหัวเว่ยของจีนได้กลายมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G เรียบร้อยแล้ว สหรัฐมองว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แยกเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศนี้ คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทันที แต่จะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นเมื่อจะแตกกัน ก็ย่อมจะต้องเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นทำสงครามการค้ากันไปสักพัก จึงต้องทำท่ากลับมาคืนดีกันก่อน แล้วค่อยมาทะเลาะแตกหักกันใหม่ ดังที่เราจะเห็นการส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะมีการพักศึกสงครามการค้าในเฟสแรกในเดือนหน้า
แต่ในระยะยาว เทรนด์ใหญ่จะเป็นการพยายามแยกเศรษฐกิจทั้งสองประเทศออกจากกันอยู่ดี คนจีนมักเปรียบเทียบว่า เหมือนวันหนึ่งเมียคุณฟ้องหย่า ถึงต่อมาจะมาขอคืนดี ใครจะไปไว้ใจคบหากันต่อไปได้อีก ก็จีนไม่รู้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะกลับมาจัดการจีนอีกทีเมื่อไร
จึงเท่ากับกำลังสิ้นสุด "ยุคโลกาภิวัฒน์" เข้าสู่ "ยุคโลกทวิภพ" หรือ "โลกเศรษฐกิจสองแกน" แตกออกเป็นสองห่วงโซ่ จากเดิมที่เคยค้าขายเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกห่วงโซ่เดียว
ผลโดยตรงที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว คิดดูสิครับว่า แต่เดิมเคยค้าขายเชื่อมโยงกันทั้งโลก บัดนี้ต่างคนต่างกีดกันซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการค้าขายโลก รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมย่อมจะปรับลดลง เป็นภาพความผันผวนและความอึมครึมระยะยาว
ตัวอย่างชัดเจนของการแตกเศรษฐกิจ คือ กรณีของหัวเว่ย ซึ่งสหรัฐได้ออกกฎจำกัดการค้าขายระหว่างบริษัทสหรัฐกับหัวเว่ย ทำให้ชัดเจนแล้วว่า โทรศัพท์รุ่นใหม่ของหัวเว่ย ซึ่งยังคงใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่จะไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นของกูเกิลได้
ยอดขายของหัวเว่ยในตลาดภายนอกประเทศจีนย่อมจะกระทบหนัก ส่วนในระยะยาว หัวเว่ยย่อมจำเป็นจะต้องจับมือกับพันธมิตรบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนออกมาบุกโลก ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเรามีทางเลือกว่า Baidu Map ก็ดีไม่แพ้ Google Map เราก็อาจยินดีที่จะใช้โทรศัพท์หัวเว่ย โดยไม่สนใจว่าจะใช้บริการแอพของกูเกิลได้หรือไม่ ดังนั้นในระยะยาวเราย่อมจะเห็นการแตกตัวของสองห่วงโซ่เทคโนโลยีอย่างแน่นอน
ในขณะนี้หัวเว่ยกำลังเร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองชื่อ หงเมิ่ง (ชื่อภาษาอังกฤษ Harmony) ในอนาคต โลกจะมีระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือ 3 ระบบ ได้แก่ ไอโอเอสของแอปเปิล แอนดรอยด์ของกูเกิล และหงเมิ่งของหัวเว่ย โดยที่หัวเว่ยคุยว่าหงเมิ่งจะเป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาสำหรับยุค Internet of Things โดยเฉพาะ
แม้แต่ในภาคการผลิตเอง เราก็เริ่มเห็นการแตกห่วงโซ่การผลิตที่ชัดเจน ตอนนี้หัวเว่ยมีนโยบายว่าจะ "เลิกใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐ" นั่นก็คือตลอดสายพานการผลิตทุกผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย จะหลีกเลี่ยงชิ้นส่วนที่มาจากสหรัฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่า กูเกิลย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์พิกเซลของกูเกิล จากประเทศจีนไปเวียดนาม ขณะเดียวกัน แอปเปิลก็ย้ายฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจากจีนกลับไปสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำเทรนด์การแยกห่วงโซ่การผลิตระหว่างสหรัฐฯ และจีนออกจากกัน
Samm Sacks นักวิชาการด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่า การแยกเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐ ออกจากกัน เป็นเหมือนกับคำพยากรณ์ที่พูดกันมากจนกลายเป็นเรื่องจริง (Self-fulfilling prophecy) นั่นก็คือยิ่งพูดกันมากจนเป็นกระแส ก็ยิ่งผลักให้ธุรกิจเลือกวางแผนและดำเนินธุรกิจไปในแนวทางดังกล่าว เพื่อกระจายความเสี่ยง และรับมือกับสงครามการค้าที่หลายคนมองเป็นเรื่องระยะยาว จนสุดท้ายแม้ในทางเศรษฐศาสตร์ การแยกเศรษฐกิจจะดูไม่สมเหตุสมผล แต่สุดท้ายก็จะเกิดขึ้นจริงตามที่พยากรณ์กันอย่างกว้างขวางนั่นเอง
ท่านที่สนใจเรื่อง "จีน-เมริกา" และทิศทางเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ ขอเรียนเชิญเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ "จีน-เมริกา จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0" โดยมีผม ร่วมด้วย ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท Sea Group และ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดยกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ครับ