ถอดถอน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ไม่ง่าย
การถอดถอน "โดนัลด์ ทรัมป์" ไม่ง่าย เพราะเมื่อส.ส.เห็นชอบอิมพีชเมนท์ แต่ถ้าส.ว.ไม่อยากเล่นงานทรัมป์ ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมากยกเลิกไปเสียก็ได้ และเนื่องจากทรัมป์ มีอำนาจทางการเมือง ทำเนียบขาวก็อาจเป็นผู้กำหนดกติกาในการพิจารณาคดีเสียเอง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เผชิญกับการลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนท์) โดยสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ที่ผ่านมามีประธานาธิบดีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการถอดถอน ได้แก่ แอนดรูว์ จอห์นสัน เมื่อปี 2411 และบิล คลินตัน เมื่อปี 2541 แต่ทั้งคู่ก็รอดในชั้นวุฒิสภา ไม่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนริชาร์ด นิกสันนั้นชิงลาออกเสียก่อนถูกถอดถอน
กระบวนการถอดถอนทรัมป์ ได้เบาะแสมาจากวันที่ 12 ส.ค. เมื่อจอมแฉนิรนามรายหนึ่งในแวดวงหน่วยข่าวกรองเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ทรัมป์ใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดี กดดันประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563 โดยทรัมป์พาดพิงถึง ฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของโจ ไบเดน ที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับตน ทรัมป์จึงกดดันเซเลนสกีให้สอบสวนคดีทุจริตของพ่อลูกตระกูลไบเดนในยูเครน ด้วยฮันเตอร์ นั่งเป็นคณะกรรมการบริหาร “บูริสมา” บริษัทก๊าซยูเครน
ทรัมป์ ถูกกล่าวหาว่าระงับความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 391 ล้านดอลลาร์เอาไว้ เพื่อต่อรองกับเซเลนสกีให้ช่วยสอบสวนสองพ่อลูกไบเดน ผู้นำสหรัฐยืนยันว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด แต่พรรคเดโมแครตกล่าวว่า การขอให้สอบสวนฮันเตอร์ และโจ ไบเดน ถือว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ
สื่อมวลชนนำข่าวเบาะแสจากจอมแฉไปรายงานกันยกใหญ่ จนทำเนียบขาวต้องเผยแพร่บทสนทนาระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกีออกมาในวันที่ 25 ก.ย.
คณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสอบถามพยานมากกว่า 12 คนทั้งแบบเปิดเผยและกระทำอย่างเป็นส่วนตัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ด้านทำเนียบขาวไม่สนใจหมายเรียก พยานหลายคนปฏิเสธไม่ไปให้การ เช่น จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และมิค มัลวานีย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
หลังจากเปิดรับฟังคำให้การแล้ว คณะกรรมาธิการยุติธรรมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ 2 บทบัญญัติถอดถอนทรัมป์ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และขัดขวางสภาคองเกรส
ผลการสำรวจความคิดเห็นจากฟ็อกซ์นิวส์ พบว่า 50% สนับสนุนกระบวนการถอดถอนและปลดทรัมป์พ้นตำแหน่ง 41% ไม่เห็นด้วยกับการอิมพีชเมนท์ ส่วนโพลของซีเอ็นเอ็น 45% กล่าวว่า ทรัมป์ควรถูกถอดถอน 47% บอกว่าไม่ควร
ถ้าสภาผู้แทนฯ มีมติถอดถอนทรัมป์ กระบวนการจะดำเนินต่อที่วุฒิสภาในเดือน ม.ค.
จอห์น โรเบิร์ต ประธานศาลฎีกา จะเป็นประธานการพิจารณาถอดถอนในวุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาที่ 53 ต่อ 47 เสียง
ในขั้นตอนนี้ตัวแทนส.ส.จะทำหน้าที่เป็นอัยการ ขณะที่ทนายความทรัมป์จะปรากฏตัวเพื่อแก้ต่างให้ การถอดถอนต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของวุฒิสภา ถ้าพรรครีพับลิกันไม่มี ส.ว.แตกแถว ประธานาธิบดีก็น่าจะพ้นผิด
เสียงถอดถอนจาก ส.ว.67 เสียง ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากรีพับลิกันแข็งแกร่งมาก แต่คดีนี้ไม่ใช่คดีธรรมดา เหตุผลหนึ่งคือ ส.ว.โดยเสียงข้างมากเป็นผู้กำหนดกติกาว่าจะเรียกพยานมาได้หรือไม่ อัยการจะนำเสนอคดีได้นานขนาดไหน และการพิจารณายาวนานแค่ไหนกว่ายุติ
จะว่าไปแล้วแม้ ส.ส.เห็นชอบอิมพีชเมนท์ แต่ถ้า ส.ว.ไม่อยากเล่นงานทรัมป์ ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมากยกเลิกไปเสียก็ได้ และเนื่องจากทรัมป์มีอำนาจทางการเมือง ทำเนียบขาวก็อาจเป็นผู้กำหนดกติกาในการพิจารณาคดีเสียเอง
มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาเผยว่า โอกาสที่ประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนเป็น 0
เมื่อพูดถึงหลักปฏิบัติ หลักกว้างๆ ที่เคยใช้ตอนพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 2411 ถูกนำมาใช้กับบิล คลินตัน ในเดือน ม.ค.2542 ถ้าใช้ระเบียบเดียวกันนี้กับทรัมป์ วันแรกอัยการหรือผู้จัดการจากสภาผู้แทนราษฎรจะมาร่วมประชุมในวุฒิสภาเพื่อประกาศข้อหา
จากนั้นตำรวจสภาประกาศข้อกล่าวหาต่อประธานาธิบดี ถือเป็นการแจ้งให้ทำเนียบขาวทราบ ตามด้วยจอห์น โรเบิร์ตส ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา สาบานตนเป็นประธานในการพิจารณาคดี วันต่อมา ส.ว.100 คนสาบานตนก่อนพิจารณาอิมพีชเมนท์
“ข้าพเจ้าขอสาบานอย่างหนักแน่นว่า ทุกสิ่งในการพิจารณาถอดถอนนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ยังไม่ถึงที่สุด ข้าพเจ้าจะดำรงความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ขอพระเจ้าคุ้มครอง” จากนั้น ส.ว.จึงเริ่มพิจารณา
แต่ศึกได้ปะทุขึ้นแล้ว ระหว่างแมคคอนเนลล์ กับชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยจากพรรคเดโมแครต ว่าจะมีการเรียกพยานและหลักฐานมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ ปัญหานี้อาจทำให้กระบวนการยืดเยื้อจากสองสัปดาห์เป็นเดือนกว่า ตอนที่พิจารณาถอดถอนคลินตันใช้เวลา 5 สัปดาห์ พรรคเดโมแครตหวังว่า ส.ว.รีพับลิกัน 4 คนจะมาร่วมกับฝ่ายตนบีบให้แมคคอนเนลล์อนุญาตให้พยานมาให้การได้