เทียบเคียง 'ซาร์ส-ไวรัสโคโรน่า 2019' ญาติร่วมตระกูลที่อาจ (ไม่) ต่าง
ยังไม่ทราบว่า “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่ก่อโรคปอดอักเสบ ซึ่งระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มในประเทศอื่นๆ สามารถก่อโรคในคนรุนแรงแค่ไหน ทราบเพียงว่าสามารถติดจากคนสู่คนได้ และเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส
สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไวรัสในตระกูลโคโรน่า กลุ่มเบต้าโค บี (BetaCov B)เช่นเดียวกัน แต่คนละกิ่ง จึงเป็นสายพันธ์ย่อยคนละตัวกัน ซึ่งไวรัสตระกูลโคโรน่า แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อัลฟา(AlphaCoV) เบต้าโค เอ(BetaCov A) เบต้าโค บี (BetaCov B) เบต้าโค ซี(BetaCov C) และเบต้าโค ดี (BetaCov D) ทั้งนี้ โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุดที่ประมาณ 89 % เป็นค้างคาวมงกุฎซึ่งพบในจีน 2 สปีชี่ส์ คือ ค้างคาวเกือกม้าของจีน (Rhinolophus sinicus) ไม่พบในไทย และค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast) พบในไทยด้วย
ขณะที่ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ บอกว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลามีการแบ่งตัว โดยเฉพาะเชื้อ RNA สายเดี่ยว แต่การกลายพันธุ์นั้น ไม่ใช่ว่าจะทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นเท่านั้น อาจกลายพันธุ์แล้วทำให้เชื้อมีความดุร้ายน้อยลงก็ได้ ซึ่งจะตอบได้ก็ต่อเมื่อนำเชื้อไปทดสอบในสัตว์ทดลอง เช่น หนูตะเภา
“การกลายพันธุ์ไม่ได้แปลว่าจะต้องร้ายแรง แต่เชื้อปกติกลายพันธุ์อยู่แล้ว เช่น กลายพันธุ์จากดั้งเดิม 1-2 % ไม่มีความรุนแรง ยังก่อโรคเหมือนเดิม แต่ถ้ากลายพันธุ์ไปในระดับหนึ่งซึ่งเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ บางคนระบุว่าไม่น้อยกว่า 5 % จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเชื้อ แต่ยังไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรุนแรง” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
เมื่อเทียบกับซาร์ส รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่เหมือนกันคือเชื้ออยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าอยู่คนละกิ่ง แต่ต้นต่อรากเหง้ามาจากกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดการก่อโรคคล้ายกัน คือ ทางเดินหายใจ ส่วนจะรุนแรงหรือไม่นั้น เมื่อเชื้อไวรัสอยู่คนละกิ่ง อาจจะทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล หรือเหมือนกันมากก็ได้ ยังตอบไม่ได้เพราะตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้น โดยจีนเริ่มสังเกตวันที่ 12 ธ.ค.2562 จนถึงวันนี้ประมาณ 40 วัน จึงเร็วเกินไปที่จะตอบอะไรบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองประวัติศาสตร์ย้อนรอย เกี่ยวกับการระบาดของซาร์ส ตอนนั้นกว่าจะรู้อะไรต่างๆ ช้ามากกินเวลาหลายเดือน จนเริ่มมีคนเสียชีวิตจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 ในวันนี้ไทยและทั่วโลกมีการรับมือดีขึ้น หากถอดบทเรียนจากซาร์สในยุคเมื่อ 17 ปีก่อนที่มีการระบาดของซาร์ส เริ่มพบว่าทำไมปอดบวมและเสียชีวิต ทำไมพยาบาลที่เข้าไปดูแลถึงติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิต พอเริ่มมีการติดมาสู่บุคลากรทางการแพทย์นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เมื่อเทียบกับ โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่2019ครั้งนี้ ประเทศไทยมีการตั้งรับเร็วกว่ามาก
การแพร่ระบาดของซาร์ส จะกระจายออกไปในวงกว้างกว่า โดยมีพื้นที่เริ่มต้นอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งตอนใต้ แต่จุดระเบิดอยู่ที่โรงแรมเมโทรโปร ที่ฮ่องกง จากฮ่องกงไปสิงคโปร์ และไปเกือบทั่วโลก 20-30 ประเทศและไปเร็ว แต่การที่โรคแพร่ไปเร็ว เราไม่กังวลเท่า กับโรคมันรุนแรง เพราะทางการแพทย์ ไม่มียารักษาจะกังวลมากหากโรครุนแรงจนเอาไม่อยู่
สำหรับโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 ตอนนี้ประเทศไทยมีข้อมูลผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย อาการยังถือว่าเบา ค่อนข้างทำให้เราสบายใจ อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า โรคนี้เบาเพราะที่จีนมีผู้ป่วยเสียชีวิต และอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
“สิ่งที่ทางการแพทย์กลัวที่สุด นอกจากโรคแรงแล้ว กลัวว่าบางคนจะกลายเป็นคนที่เรียกว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super-spreader)” คือผู้ที่มีเชื้อมหาศาล จนกระทั่งสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
หากพิจารณาอัตราการเสียชีวิต รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี ให้ข้อมูลว่า โรคซาร์ส อยู่ที่ 10% โรคเมอร์ส 30% ไข้หวัดใหญ่ประจำปี 0.01 % แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเป็น 0.1 % มากกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดา 10 เท่า โรคอีโบล่าระยะแรกของการระบาด อัตราการเสียชีวิตที่ 95% แต่หลังจากที่มีการระบาดในแอฟริกาตะวันตก และมีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปให้การช่วยเหลือ อัตราการเสียชีวิตลดลง เหลือประมาณ 50-60 % ส่วนไข้หวัดนก หากเป็นเชื้อเอช5เอ็น1(H5 N1) อัตราการเสียชีวิต 60% ถ้าเป็นเชื้อเอช7เอ็น9( H7 N9)ในจีน ประมาณ 30% ซึ่งเชื้อตัวนี้จีนเอาอยู่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ จากการที่ฉีดวัคซีนในสัตว์ปี และมีมาตรการล้างตลาดใน 1 เดือนจะปิด 1-2 วันเพื่อล้างตลาด ส่วนโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่ทราบความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตที่แน่ชัด
สำหรับประเทศไทยได้ประกาศให้โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) หรือโรคทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคซาร์สภายในประเทศ ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย และไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม ขณะที่ประเทศจีน เคยมีโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 ราย ส่วนโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 ยังไม่มีการประกาศเช่นโรคซาร์ส เนื่องจากองค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และยังต้องรอข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับไวรัสใหม่นี้เพิ่มขึ้นอีก
แม้จะมีข้อมูลไม่ชัดเจนเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในบางส่วน แต่ประเทศไทยดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองควบคุมโรคเช่นเดียวกับโรคซาร์ส หากมีรายงานผู้ป่วยที่สงสัย จะทำการแยกกัก โดยมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัดทั่วประเทศ