รพ.จุฬาฯ รับมือ 'โคโรน่า' อบรมบุคลากรเฝ้าระวังระบาดใน รพ.
รพ.จุฬาฯ เกาะติดสถานการณ์ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แนวทางการดูแลผู้ป่วยและป้องกันตนเอง โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล บุคลากร นิสิตแพทย์ และประชาชนทั่วไปเข้ารับฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดในปัจจุบัน
เนื่องจาก ขณะนี้ ไวรัสโคโรน่าทำให้มีผู้ป่วยทั่วโลกมากกว่า 4 พันราย เสียชีวิต 106 รายรอการยืนยันอีกกว่า 6 พันรายซึ่งกลุ่มที่ต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยงของการระบาดโรคมากที่สุด คือ บุคลากรทางการแพทย์
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ว่าการระบาดของโรคกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด มีอัตราการการตายราว 3% โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคดังกล่าว มีการติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย เหมือนหวัดถ้าไม่ระวัง เป็นโรคที่ติดง่าย การป้องกันตามที่ WHO แนะนำ คือ ทำได้โดยการใส่หน้ากากอนามัยและทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ
- เสียชีวิตพุ่ง106 ราย
ผศ.นพ.โอภาส อธิบายเพิ่มเติมว่า การระบาดไวรัสโคโรน่า ซึ่งมีจุดกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีการรายงานไปยัง WHO ของจีน เมื่อเดือน 31 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา ว่ามีคนไข้ปอดอักเสบหลายคน อาการคล้ายกันแต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ระบุเชื้อไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้น มีการเก็บเคสและหาเชื้อ
กระทั่งวันที่ 11 ม.ค. 2563 เป็นวันที่เคสแรกเสียชีวิต หลังจากนั้นก็มีการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน มีการประกาศว่าเป็นไวรัสโคโรน่า และมีการพบเคสมาเมืองไทย เป็นคนจีนคนแรกป่วยเป็นปอดอักเสบโดยเดินทางมาจากอู่ฮั่น จนถึงวันนี้ (28 ม.ค.) มีผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 4,529 ราย เสียชีวิต 106 ราย และยังมีเคสต้องสงสัยที่ยังรอยืนยันอีกกว่า 6 พันราย
ทั้งนี้ จากรายงานของ The Lancet ระบุว่า อาการทางคลินิก ที่รวบรวมจากเคสที่เกิดขึ้นในรายที่นอนโรงพยาบาล อาการปานกลาง ถึงรุนแรงจำนวน 41 คน ทุกรายมีปอดอักเสบ ขณะที่ 30% มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจะมีไข้ และไอ ปวดกล้ามเนื้อ 40%
อย่างไรก็ตาม มีอาการที่ระบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ปวดหัว ท้องเสีย (ไม่ค่อยมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเหมือน ซาร์ส) ลงไปปอดเลย โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 30% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไวรัสกระจายในกระแสเลือด อัตราการตาย 15% ในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล ด้วยอาการปอดอักเสบ และส่วนอัตราการตายในผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 3% (วันที่ 26 มกราคม 2563)
“ที่ผ่านมีเคสที่ไม่เคยมีประวัติไปตลาดอู่ฮั่น ดังนั้น สาเหตุการเกิดโรคจึงมีมากกว่า 1 ไม่ได้อยู่แค่ที่ตลาด ที่มาของเชื้อมาจากค้างคาวแน่ๆ แต่จากค้างคาวมาคน อะไรเป็นตัวกลาง เป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษา แค่กินค้างคาวไม่น่าจะติด แต่อาจจะมีการฟุ้งกระจายสักอย่างของเชื้อ ซึ่งมาจากสัตว์ หรือ คนที่ป่วย เนื่องจากอู่ฮั่นเป็นตลาดปิด อากาศอาจจะไม่ถ่ายเท อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ คนไข้ที่นอนไอซียู ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นลักษณะทางคลินิกที่สำคัญ”
สำหรับการรักษาเหมือนไวรัสทั่วไป คือ ประคับประคอง ตามอาการ หากภูมิคุ้มกันดีพอ อาจจะไม่เป็นอะไร และเชื่อว่ามีหลายรายหายได้เองหากมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่กลุ่มเสี่ยง เช่น เบาหวาน หากคุมไม่ดี โอกาสติดเชื้อรุนแรง และกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกันตก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค นอกจากกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือแล้ว ต้องใช้หน้ากากอนามัย โดย ตอนนี้ตามที่ WHO แนะนำ คือ แบบธรรมดาก็ใช้ได้ แต่หากไวรัสเล็กลงอาจต้องใช้ N95 แต่ตอนนี้ยังไม่ต้อง
ตอนนี้คงต้องให้ความรู้ประชาชนเยอะๆ เช่น อัตราการตายซึ่งคนจะรู้สึกกลัว ข้อมูล ปัจจุบันส่วนใหญ่หายได้เอง นอกจากคนที่มีความเสี่ยง รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย และการล้างมือหากไปในที่คนเยอะ หรือสัมผัสราวจับในรถสาธารณะ ขณะเดียวกันการระบาดของโลก โดยเฉพาะการระบาดในชุมชน สิ่งที่ต้องระวัง คือ ในโรงพยาบาล การใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจึงสำคัญมาก
- เตรียมบุคลากรรับมือโคโรน่า
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวเสริมว่า ในการดูแลผู้ป่วย ต้องระวังมากขึ้น เพราะเคสที่มีการรายงานการระบาดมาก คือ ระบาดในโรงพยาบาล ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลคนไข้มีความเสี่ยงมากกว่าประชาชน เพราะเคสที่มาอยู่โรงพยาบาลเป็นคนไข้หนัก เชื้อจึงเยอะ มีการไอ จาม สารคัดหลั่งจะมีมาก เราจึงยกระดับในการฝึกการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เตรียมชุดป้องกันอย่างดี และเทรนด์บุคลากรทางการแพทย์ ที่จะมีโอกาสเข้าไปดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอย่างดีราว 100 คนทุกระดับ
ปัจจุบัน รพ.จุฬาฯ มีทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่กังวล เดินทางมาตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ราว 20-30 คนต่อวัน ซึ่งคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เจอผู้ป่วยที่มีเชื้อ แต่เนื่องจากผลที่ตรวจ ต้องใช้เวลานาน แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพราะโรงพยาบาลทุกที่ทั่วประเทศ ต้องส่งมาตรวจแล็ปของ รพ.จุฬาฯ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เข้ามาตรวจหากไม่มีอาการอะไรผิดปกติ ทาง รพ. จะให้ใส่แมส และกลับไปรอที่บ้าน
เท่าที่ตรวจมามีไข้หวัดใหญ่ ซึ่งระบาดคล้ายกัน ทำให้คนที่อาการคล้ายกันมา โดยที่อาจไม่ใช่ก็ได้ ตอนนี้ยังไม่มีใครต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรอคัดกรอง ทางรพ. ได้เตรียมห้องความดันลบ ไว้ 4 ห้อง เพื่อรอบรับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ แต่หากเคสเยอะขึ้น สามารถเปิดเพิ่มในบางตึกได้ ซึ่งมีอย่างน้อยอีก 6 ห้อง โดยขณะนี้มีคนไข้ประเภทอื่นอยู่ เช่น วัณโรค
"นักท่องเที่ยว เขารู้ตัวดีหากรู้สึกไม่สบายเขาก็มาตรวจเลย ขณะนี้ มี 1 เคส เป็นคนจีน จากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งลงเครื่องมา รู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย และมีบุคคลใกล้ชิดที่เมืองจีนติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ดังนั้น เขาลงเครื่องเครื่องจากสุวรรณภูมิมา จึงเดินทางมาตรวจ แต่ความจริงเขามาอาการไม่ค่อยเหมือน ไม่มีไข้ แต่มีอาการท้องเสีย จึงทำการตรวจคัดกรอง สังเกตอาการ หากมาจากเมืองที่มีความเสี่ยงเราจับตรวจหมด ทั้งนี้ ระบบคัดกรองโดยการวัดไข้ ใช้คัดกรองได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพูดคุย ซักถามจะทำให้ชัดเจนขึ้น” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว