'ไวรัสโคโรน่า' ลาม พ่นพิษเศรษฐกิจโลก

'ไวรัสโคโรน่า' ลาม พ่นพิษเศรษฐกิจโลก

"ไวรัสโคโรน่า" ที่แพร่กระจายในจีน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่ล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ออกมาเตือนเป็นครั้งแรกว่า กำลังคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างน้อยที่สุดในช่วงสั้น จนปรากฏผลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก

นอกจากผลกระทบของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ในประเทศจีน เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะลามไปสู่มณฑลต่างๆ ของจีน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก จากจำนวนผู้เสียชีวิตในจีนที่สูงถึง 362 คน และมีผู้ติดเชื้อ 17,300 ราย (ข้อมูลวันที่ 3 ก.พ.2563) โดยหลายสำนักวิจัยในไทยและต่างประเทศ ระบุว่ามีแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2563 มีโอกาสโตต่ำกว่า 6%

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าไปค่อนโลก ยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่โรคลามไปถึง โดยในไทยซึ่งเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อหลายราย มีการประเมินกันว่า จะฉุดจีดีพีไทยปี 2563 ลดลงราว 1% เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับไทยในสัดส่วนสูง ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ในไทยในเชิงปริมาณและมูลค่าโดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินสถานการณ์ล่าสุดว่า การแพร่ระบาดของโรค จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ราว 3 แสนล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายรายได้รวมท่องเที่ยวในปี 2563 ที่ตั้งไว้ที่ 3.16 ล้านล้านบาท หากรัฐมีมาตรการกระตุ้นตลาดไม่ทันท่วงที 

ล่าสุดผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ยังออกมาเตือน "เป็นครั้งแรก" ว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่า กำลัง "คุกคาม" ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างน้อยที่สุดในช่วงสั้น จากผลผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง จนปรากฏผลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก แม้ผลกระทบระยะยาวยังไม่เห็นชัดเจน ก็ตาม

เหตุการณ์ดังกล่าว จึงนับเป็น "ปัจจัยลบ" ตัวใหม่ ที่เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่เผชิญกับภาวะชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ขณะที่ประเด็นสงครามการค้า แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าข้อพิพาททางการค้าจะยุติได้โดยง่าย จึงถือว่า "ทั่วโลก" เผชิญความท้าทายใหม่ที่น่าปวดหัว ที่สำคัญเป็นเรื่องที่ยากจะรับมือ ขณะที่จีนและสหรัฐยังเปิดสงครามน้ำลายรอบใหม่ โดยจีนระบุว่า สหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการโหมกระพือความหวาดกลัวต่อโรคระบาด ขณะที่สหรัฐระบุก่อนหน้านี้ว่า เคยเสนอขอความช่วยเหลือต่อจีนในเรื่องนี้แล้ว 3 รอบแต่ไม่ได้รับการตอบกลับมิตรไมตรี 

ขณะที่ในไทยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (4 ก.พ.) จะมีการพิจารณามาตรการเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษไวรัสโคโรน่าในหลายมาตรการ โดยเฉพาะการลดผลกระทบปัญหาสภาพคล่อง-ต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อผลักดันจีดีพี ยังมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ทว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในภาวะที่ดีมานด์ทั่วโลก รวมถึงในไทยชะลอตัวว่า มาตรการที่เข็นออกมานี้จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ถ้าคนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงยังสวมหน้ากากอนามัย ไม่อยากออกไปสูดอากาศในที่ชุมชน เพราะกลัวทั้ง PM2.5 และโรคระบาด

อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!