6 ข้อต้องระวัง เรื่อง 'เงินทอง' ของ 'คนมีคู่' ที่เป็นเหตุให้รักพัง!
เช็กลิสต์ 6 ข้อผิดพลาดในการบริหารเงิน ของคนมีคู่ ที่ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่ ‘คนรัก’ จะเปลี่ยนสถานะเป็น ‘คนอื่น’
สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงเมื่อ ‘วาเลนไทน์’ เวียนมาอีกครั้ง คือ ‘ความรัก’ ระหว่างหนุ่มสาวที่กำลังผลิบาน หรือแม้แต่การถือโอกาสนี้เริ่มต้นชีวิตคู่ฉันท์สามีภรรยาอย่างเป็นทางการ
ทว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่คู่รักที่หวานฉ่ำก็ยังมีปัญหาถึงขั้นเลิกราได้เพราะเรื่องนี้ การให้ความสำคัญในการบริการเงินสำหรับคนมีคู่ จึงเป็นเรื่องที่ควรวางแผนและเริ่มต้นขึ้นไปพร้อมๆ กับการปลูกต้นรัก
“ไม่เคยคิดว่าชีวิตต้องเลิกกับแฟนเพราะเงิน”
“คนเป็นแฟน เลิกกันเพราะสาเหตุเรื่องเงิน เยอะไหมครับ...”
“เคยเหนื่อยใจจนคิดอยากจะเลิกกับแฟน เพราะเรื่อง เงิน กันมั้ยคะ”
ชื่อกระทู้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นหน้าแรกของกูเกิล เมื่อลองค้นหาคำว่า “เลิกกันเพราะเงิน” ที่สมาชิกส่วนหนึ่ง ตั้งขึ้นเพื่อแชร์เรื่องราวเป็นอุทาหรณ์และขอความเห็นจากสมาชิกคนอื่นๆ ในเรื่องที่คล้ายคลึงกัน
เมื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของสมาชิกที่สะท้อนออกมา ก็พบว่า ปัญหาทางการเงิน 2 เรื่องหลัก 6 เรื่องย่อย ที่พบบ่อยในกลุ่มคนมีคู่ และเคยเป็นชนวนที่อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ที่คนมีคู่ต้องรู้ และรีบจัดการก่อนสายเกินแก้
ไม่วางแผนการเงิน
หลายคู่แชร์ประสบการณ์และเป็นที่ปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน ด้วยสาเหตุส่วนตัวของแต่ละคน ทว่า การไม่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการเงินในการใช้ชีวิตคู่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น
- ขาดการวางแผนภาระ ค่าใช้จ่าย
หลายคู่เริ่มต้นความรักด้วยวิถี ‘ผู้ชายสายเปย์’ มีอะไรจ่ายให้หมด แต่เมื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในบ้านเดียวกัน มีความรับผิดชอบทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับกินอยู่ในชีวิตประจำวัน ภาระอื่นๆ อย่างค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ชำระหนี้สินต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะเกินกว่าจะแบกรับคนเดียวไหว
เมื่อไม่มีการตกลง หรือวางแผนให้ชัดเจนตั้งแรก ภาระอาจเทไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเอ่ยปากขอความช่วยเหลือหรือท้วงติงเรื่องการจัดการเงินภายหลัง อาจกระทบความรู้สึก และเป็นชนวนจุดความขัดแย้งที่กระทบต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม แต่ละคู่อาจแบ่งภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่พึงพอใจ และสอดคล้องกับรายได้และภาระอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ หรือหากคู่ไหน ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็ย่อมได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า นั่นเป็นความสบายใจของทั้งคู่ และทำได้จริงในระยะยาว
- ขาดแผนระยะสั้น ในกรณีฉุกเฉิน
ร่วมทุกข์ ร่วมสุข คือความคาดหวังจากคู่ชีวิตที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่มีหลายคู่ที่ต้องยอมสละความสัมพันธ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินมาเกี่ยวข้อง เพราะขาดการวางแผนการเงินระยะสั้น เมื่อเกิดปัญหาจึงกลายเป็นการกระทบกระทั่งขึ้นได้
การเริ่มต้นชีวิตคู่จึงไม่ใช่แค่ การบริหารเงินในชีวิตประจำวันให้ลงตัว แต่ต้องวางแผนการเงินระยะสั้นในกรณีฉุกเฉินไว้อย่างรัดกุม
เช่น ทยอยแบ่ง 10% ของเงินเดือนทั้งคู่ เพื่อเก็บเป็นเงินก้อนนี้ไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน เช่น แต่ละเดือนต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท ควรมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน(ไม่รวมเงินเก็บสำหรับอนาคต) อย่างน้อย 180,000 บาท (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละเดือน 30,000 x 6) เพื่อใช้จ่ายในกรณีที่ขาดรายได้กะทันหัน มีเหตุที่ต้องใช้เงินก้อนด่วน เป็นต้น
- ขาดแผนในอนาคต
'อยู่ด้วยกันแล้วเหมือนไม่มีอนาคต' ความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าขาดความมั่นคงในชีวิต ซึ่งนอกจากเรื่องความสัมพันธ์แล้ว ส่วนใหญ่ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากเรื่องเงิน เมื่อความมั่นคงในชีวิตมีเงิน เป็นส่วนประกอบ
ดังนั้น นอกจากการวางแผนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเตรียมเงินฉุกเฉินแล้ว อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการบริหารเงิน คือ 'วางแผนการเงินสำหรับอนาคต' ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องเกิดขึ้นทันทีที่เริ่มต้นชีวิตคู่
การวางแผนการเงินระยะยาว อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคู่อาจเตรียมแผนสำหรับมีลูกในอีก 5 ปีข้างหน้า ซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการ
แต่แผนที่ทุกคู่ควรมี และต้องมี คือการวางแผนสร้างเงินก้อนไว้ใช้ “หลังเกษียณ” ซึ่งต้องแยกกับเงินสำรองฉุกเฉิน และเงินระยะยาวอื่นๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการแบ่งเงินเดือน 20% ของทุกๆ เดือนสำหรับฝากออมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุน หุ้น หรือลงทุนอื่นๆ ตามความเข้าใจและความเสี่ยงที่รับได้เพื่อให้เงินส่วนนี้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการเวลาเพื่อนำไปสู่ “การเกษียณสุข” และความรู้สึกมั่นคงทางการเงินของทั้งคู่ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อวันหนึ่งวันใดมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างยังมีเงินประคับประครองชีวิตของตัวเองได้แบบไม่ลำบาก
คลิกอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
- 4 สเต็ปเก็บเงิน ‘แต่งงาน’ สไตล์ ‘มนุษย์เงินเดือน’
- ‘วาเลนไทน์’ ชวนแฟนเปิด ‘บัญชีคู่’ วางแผนชีวิตรักและการเงิน
ใส่ใจเรื่องเงินๆ ทองๆ มากไป จนลืมใส่ใจความรู้สึก
- คิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องเงิน เปรียบเทียบกับคนอื่น
‘ทำไมเธอจ่ายน้อยกว่าตลอด’
‘แฟนคนอื่นเลี้ยงตลอด ไม่เห็นต้องแชร์?’
คำพูดบั่นทอนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แม้เรื่องเงินเป็นเรื่องที่คู่รักควรคุยกันเพื่อวางแผน และอัปเดตกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในบางกรณีการทวงถามมากเกินพอดี ไม่ยอมขาดยอมเกิน คิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องเงินระหว่างกันจนมากเกินไป จะกลายเป็นเรื่องระแคะระคายใจซึ่งกันและกัน แม้ดูเป็นเรื่องเล็กแต่นี่คือจุดเริ่มต้นของรูรั่วความสัมพันธ์ที่อาจทำให้ต่อกันไม่ติดอีกเลยก็ได้
- บริหารความมั่งคั่ง จนลืมบริหารความสัมพันธ์
เมื่อความรับผิดชอบมากขึ้น ภาระหนี้เพิ่มขึ้น มีส่วนให้หลายคู่ต้องทุ่มเทในการทำงาน และเน้นเรื่องการทำรายได้จนอาจลืมเวลา “ไม่มีเวลาให้กัน” แม้ปัญหานี้จะเริ่มต้นจากความหวังดีในการหาเงินมาจุนเจือครอบครัวให้มีเงินใช้คล่องมือ อยู่สบาย แต่เมื่อหักโหมจนเหนื่อยล้าเกินไปในระยะยาว จนกลายเป็นจุดเปราะบางของชีวิตคู่ ที่หลายคนยกมาเป็นเหตุผลก่อนแยกทางกัน เพราะฉะนั้นระหว่างที่บริหารความมั่งคั่งแล้ว อย่าลืมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้งอกเงยไปพร้อมๆ กัน
- ใช้เงินตามใจตัวเองเกินไป
สาวๆ กับการช้อปปิ้ง ผู้เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ปาร์ตี้ หนุ่มๆ กับรถยนต์ เกม เที่ยวกลางคืน ฯลฯ ใครจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ตราบใดที่เริ่มใช้เงินไปกับความชอบส่วนตัวของตัวเองเพียงฝ่ายเดียวอย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหา
บางคนเพลิดเพลินกับการใช้เงิน จนถึงขั้นเข้าสู่วงจรการพนัน ลามไปถึงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น การเงินในครอบครัวต้องสะดุด ทำให้การเงินพังไม่เป็นท่าไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์
หลายคู่หาทางออกให้เรื่องนี้ด้วยการหักเงินสำหรับใช้สนองไลฟ์สไตล์ของทั้ง 2 ฝ่ายเท่าๆ กันทุกเดือน เพื่อไม่ให้ไปรบกวนแผนการเงินอื่นๆ ที่วางไว้
จะเห็นได้ว่า ‘เรื่องเงิน’ แทรกอยู่ทุกจังหวะชีวิต และเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อหากไม่จัดการให้ดี ดังนั้น ‘คนมีคู่’ ทั้งหลาย อย่าลืมหาวิธี บริหารเงิน และบริหารความสัมพันธ์ให้ดีอยู่เสมอ เพราะการเงินกับความรัก เหมือนกันตรงที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :