‘ประมูล 5G’ จบแล้ว! รัฐกวาด 100,521 ล้านบาท
มาไว จบไว “ประมูล 5G” เคาะกัน 3 คลื่น 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตช์ ขายออก 48 ใบอนุญาตรัฐกวาดรายได้วันเดียว 100,521 ล้านบาท
ล่าสุด ประมูล 5G คลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ เปิดให้มีการจัดสรร จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคา 22 ล้านบาท รวม 11,421 ล้านบาท โดยในคลื่นนี้มีผู้เข้าร่วมประมูลรวม 4 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรูมูฟ ดีแทค และ ทีโอที ซึ่งสองรายหลังนี้เข้าประมูลคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์เพียงคลื่นเดียว โดยคลื่นความถี่ 26 ถือเป็นคลื่นในย่านสูง (ไฮแบนด์) แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีอุปกรณ์โดยตรงที่รองรับ 5G แต่เป็นคลื่นที่นำไปผสมรวมกับในย่านอื่นๆเพื่อให้บริการ โดยในรอบแรกเริ่มการประมูลในเวลา 14.30 น.จบในรอบแรกรอบเดียว มีผู้เสนอความต้องการ 26 ชุด ต่ำกว่าที่มีจัดสรร 1 ชุดคือ 27 ชุด ถือว่าสิ้นสุดการประมูล ทำเงินเข้ารัฐ 11,627 ล้านบาท
ขณะที่ ช่วงเช้า เริ่มการประมูลคลื่น 700 จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาทรวมราคา 26,376 ล้านบาท ในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ "เอไอเอส ทรูมูฟ และ แคท เทเลคอม" ซึ่งการประมูลเริ่มตั้งแต่ 9.30 น. ในรอบแรกมีการเสนอความต้องการมากถึง 6 ชุดความถี่ มากกว่าจำนวนที่มีจัดสรรถึงเท่าตัว ต่อมาในรอบที่ 2 มีการเสนอความต้องการลดเหลือ 4 ชุดมากกว่าจำนวนที่มีจัดสรร 1 ชุด โดยจากรอบที่ 2 เคาะราคายืนที่ 4 ชุดมาตลอด เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง จนมาถึงรอบที่ 20 มีการเสนอความต้องการเท่ากับจำนวนที่จัดสรรแล้วที่ 3 ชุด
ทั้งนี้ ราคาประมูล 5G คลื่น 700 ครั้งนี้ถือว่ามีราคาประมูลที่แพงขึ้นมาก ต่างจากการประมูลคลื่น 700 ที่สำนักงานกสทช.จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2562 ที่ 3 ชุดใบอนุญาตๆละ 10 เมกะเฮิรตซ์ โดยครั้งนั้น เอไอเอส ทรูมูฟ และ ดีแทคได้ไปคนละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ในราคาเท่ากันที่ 17,584 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ การประมูลจัดสรรเพียงแค่ 5 เมกะเฮิรตซ์ แต่กลับมีราคาถึง 17,153 ล้านบาท
ต่อมา มีการประมูล 5G ต่อมาในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เริ่มประมูลในเวลา 12.50 น. โดยในย่าน 2600 นี้ มีจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท รวมราคา 35,378 ล้านบาท ในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ได้แก่ "เอไอเอส ทรูมูฟ และ แคท เทเลคอม"
โดยในคลื่นนี้ เป็นคลื่นที่เหมาะกับการทำ 5G มากที่สุด โดยเป็นคลื่นที่มีความเป็นสากล ในด้านอุปกรณ์รองรับ และเครื่องลูกข่าย มีการประเมินว่าจะมีการแข่งขันกันดุเดือดมากที่สุด แต่ผลการ ประมูล 5G กลับไม่คึกคักใช้เวลาประมูลเพียง 2 รอบ รอบแรกนั้น มีผู้เสนอความต้องการรวมกัน 25 ชุดมากกว่าที่จัดสรรถึง 6 ชุดที่มีให้ 19 ชุด กำหนดเพดานประมูลได้ไม่เกินคนละ 10 ชุดต่อมาในรอบที่ 2 มีการเสนอความต้องการลดเหลือ 19 ชุดเท่ากับที่มีการจัดสรร จบการประมูลเพียงแค่เวลา 40 นาที โดยราคาต่อชุด 1,956 ล้านบาท รวมทำเงินเข้ารัฐได้ 37,434 ล้านบาท