'นิด้าโพล' เผยคนไทยส่วนใหญ่ไว้ใจฝ่ายค้าน
"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจล่าสุดหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สอบถามคนไทยว่าไว้วางใจการซักฟอกของฝ่ายค้านหรือไม่ พบว่าเกินครึ่ง "ค่อนข้างไว้ใจ-ไว้วางใจมาก" ส่วนเรื่องข้อมูลซักฟอกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่มองว่า "ยังไม่เด็ดพอ"
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คุณไว้วางใจฝ่ายค้านหรือไม่?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 5 มีนาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,510 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการไว้วางใจการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ติดตามข่าวตลอด ร้อยละ 44.07 ระบุว่าติดตามข่าวบ้างพอสมควร ร้อยละ 16.81 ระบุว่า ไม่ค่อยติดตาม ร้อยละ 29.60 ระบุว่า ไม่ติดตามเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อมูลเด็ดของฝ่ายค้านในการมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนดิ้นไม่หลุด เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 32.02 ระบุว่า มีข้อมูลเด็ด ที่สามารถมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 44.90 ระบุว่า มีข้อมูล แต่ไม่เด็ดเพียงพอที่จะมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 14.00 ระบุว่า ไม่มีข้อมูลเด็ดเลย และร้อยละ 9.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความเชื่อของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับรัฐบาลในการทำให้รัฐมนตรีบางรายไม่ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากข้อจำกัดทางเวลา เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 10.05 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.16 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 27.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 30.75 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 8.41 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการไว้วางใจของประชาชนต่อฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 26.28 ระบุว่า ไว้วางใจมาก เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูล หลักฐาน ในการนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถทำให้ฝ่ายรัฐบาลถูกตรวจสอบการทำงานได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในบุคลากรของพรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 34.92 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูลที่ชัดเจน มีเหตุผลตรงไปตรงมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายค้าน ร้อยละ 22.26 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะ ข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกอภิปรายฯ มากกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า สองพรรคใหญ่ทางฝ่ายค้านไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร้อยละ 13.78 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย เพราะ ข้อมูลไม่ตรงประเด็นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ฝ่ายค้านพยายามจะล้มรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และร้อยละ 2.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.84 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.62 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.47 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.66 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.12 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.88 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.33 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.94 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.99 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.59 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.15 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 93.47 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.67 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.68 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.19 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.71 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.87 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.15 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.27 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 29.56 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.16 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.37 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.54 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.66 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.71 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 9.68 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.75 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.20ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.10 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.62 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 19.08 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.67 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.90 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 18.33 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 8.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.70 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.29 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.27 ไม่ระบุรายได้