'คุรุสภา' เปิดรายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ปี 68  

'คุรุสภา' เปิดรายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ปี 68   

“คุรุสภา”ประกาศ 7 รายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 ย้ำความสำคัญ “รางวัลคุรุสภา” ต่อยอดขยายผลพัฒนาการศึกษาไทย

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการ คุรุสภา กล่าวว่า การส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องและผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งในทุกปีคุรุสภาได้ดำเนินการเฟ้นหา คัดเลือก เปิดเวทีทางวิชาการจัดประกวดผลงาน และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง  

หวังว่าผู้ได้รับรางวัลต่าง ๆ จะเป็นแบบอย่างให้บุคลากรทางการศึกษานำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน และเมื่อมีการขยายผลไปอย่างกว้างขวางก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดธีมงานวันครู ปี 68 คุรุสภาหนุนครูไทยสร้างเด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาด

ครูทั้งประเทศต้องรู้จักไว้! เว็บครู.ไทย ช่วยสอนครูสร้างเว็บไซต์ด้วยตนเอง

7 รายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เนื่องในโอกาสงาน วันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568  (วันครู 68) ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้  ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คุรุสภาได้ประกาศรายชื่อบุคคล และนิติบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย ประเภทบุคคล จำนวน 6 ราย ได้แก่

1.พระพรหมบัณฑิต ธมฺมจิตฺโต

2. พระเทพปริยัติโสภณ (ปัญญา วิสุทธิปญฺโญ) 3

3.ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล

4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ

5.นายกมล รอดคล้าย

6.นายประสาน ไตรรัตน์วรกุล 

ประเภทนิติบุคคล จำนวน 1 ราย ได้แก่

มูลนิธิสมาน - คุณหญิงเบญจา แสงมลิ

\'คุรุสภา\' เปิดรายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ปี 68   

ประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลของคุรุสภา รวมทั้งสิ้น 1,159 คน ประกอบด้วย

1.รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น รับเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ จำนวน 3 คน ซึ่งได้คัดเลือกครูภาษาไทยในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลงานดีเด่น ที่ส่งเสริมผู้เรียนให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาไทยที่เหมาะสมกับสถานภาพ และความพร้อมของผู้เรียนแต่ละคน

2. รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น รับเข็มเชิดชูเกียรติจารึก พระนามาภิไธยย่อ กว จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นครูที่มีศักยภาพและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน

3.รางวัลคุรุสภา จำนวน 27 คน แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 9 คน ระดับดี 18 คน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่นและมีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ 4.รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 25 คน แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 11 คน ระดับดี 14 คน ซึ่งได้คัดเลือกครูในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 5.รางวัลคุรุสดุดี จำนวน 1,065 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จนสามารถเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์ และบุคคลทั่วไป

ผศ.ดร.อมลวรรณ  กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีรางวัลที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตื่นตัวในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท เป้าหมายการพัฒนา และตามความต้องการของสถานศึกษาอย่างแท้จริง โดยเปิดให้สถานศึกษาทุกสังกัดที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึง ระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งของรัฐและเอกชน ส่งผลงานเข้ารับการคัดสรรรางวัล “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” ซึ่งในปี 2567 มีสถานศึกษาที่ได้รับรางวัล “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” ระดับประเทศ รวมจำนวน 21 ผลงาน ประกอบด้วย รางวัลระดับเหรียญทอง 7 ผลงาน ระดับเหรียญเงิน 8 ผลงาน และดับเหรียญทองแดง 6 ผลงาน  และมีรางวัล “ผลงานวิจัยของคุรุสภา”ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และนิสิต นักศึกษาที่ปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ ได้ส่งผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและคุณค่าทางวิชาการเป็นแบบอย่างของการประยุกต์หรือต่อยอดเพื่อการพัฒนาวิชาชีพเข้าประกวด ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 13 เรื่อง

“ งานยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพพางการศึกษา เป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจ คุณค่า และความศรัทธาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งคุรุสภามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ตั้งใจปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จนสามารถเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์และบุคคลทั่วไปสมกับเป็นปูชนียบุคคล ให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของสังคม พร้อมที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ศิษย์และประเทศชาติยิ่งๆ ขึ้นไป” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.