เชียงใหม่ สั่งปิดห้าง-ปิดตลาด ถึง 13 เม.ย.นี้
"ผู้ว่าฯ เชียงใหม่" ประกาศใช้มาตรการเดียวกับกทม. ปิดห้างสรรพสินค้า-ตลาด ตั้งแต่เย็นพรุ่งนี้ ถึง 13 เม.ย. ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยรวม 12 ราย
เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันที่ 22 มีนาคม ที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2563
นายเจริญฤทธิ์ แถลงข่าวว่า จากกรณีที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันและปิดกั้นวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโดยห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งเกินความจำเป็นมากเกินไป ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงประกาศในเรื่องของการปิดสถานที่บางแห่งโดยมีการยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 1 และแก้ไขเป็นประกาศฉบับที่ 2 และกำหนดพื้นที่สำหรับปฎิบัติการเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.2563 เวลา 18.00 น. จนถึงวันที่ 13 เม.ย.2563 เวลา 24.00 น.
โดยข้อ 1.ให้ปิดสถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา 2.ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ 3.ปิดพื้นที่บางส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือห้างร้านที่มีร้านค้าย่อยในอาคารหรือบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้เว้นแต่พื้นที่ของซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายย่า หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งสำนักงาน ธนาคาร และสำหรับร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น
4.ตลาดให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 5.ถนนคนเดิน 6.ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และร้านอาหาร เครื่องดื่มในโรงแรมให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรมเท่านั้น 7. ปิดพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม
8.ปิดสถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ รวมถึงสถานที่มุ่งเน้นการขาย จ่าย แลกเปลี่ยนให้สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดื่มกินในสถานที่นั้นๆ เช่น ร้านเหล้าตอง 9.ปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ได้แก่ ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม 10. ปิดสถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ สมุนไพร เว้นแต่การรักษาพยาบาลดังกล่าวในสถานพยาบาล 11. ปิดร้านเสริมสวย ร้านตัดผม หรือแต่งผม ร้านแต่งเล็บ
12. ปิดสถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย 13. ปิดสถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนักหรือเสริมความงาม และสถานที่เสริมความงาม 14.ปิดสระว่ายน้ำ รวมถึงสระว่ายน้ำของหมู่บ้าน หรืออาคารชุดที่พักอาศัย (15) ปิดสถานที่ออกกำลังกาย ฟิสเนส
16. ปิดสถานที่เล่นสเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 17. ปิดเครื่องเล่นในอาคาร ครื่องเล่นภายนอกอาคาร เครื่องเล่นชั่วคราว สวนสนุก รวมถึงโซนอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้า 18.ปิดร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ตและตู้เกมส์ หรือสถานที่อื่นใดที่มีการให้บริการในลักษณะคล้ายกัน 19. ปิดร้านคาราโอเกะ 20.ปิดสถานประกอบกิจการ โรงมหรสพ โรงภาพยนต์ โรงละคร 21. ปิดศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่องพระบูชา 22.ปิดสนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 23. ปิดสนามยิงปืน 24. ปิดบ่อตกปลา ตกกุ้ง หรือกิจกรรมใดในประเภทเดียวกัน
25.ปิดสนามกีฬาประเภทที่มีการสัมผัสร่างกายหรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน อาทิเช่น สนามฟุตบอล ฟุตซอล 26.ปิดโต๊ะสนุ๊กเกอร์ บิลเลี่ยน และสถานที่เล่นโบว์ลิ่ง 27.ปิดสนามมวย โรงฝึกสอนมวย ค่ายมวย โรงเรียนสอนฝึกซ้อมศิลปะป้องกันตัว 28.ปิดสนามชนไก่ สนามประลองไก่ สนามม้า หรือสนาม หรือพื้นที่ที่จัดให้มีการต่อสู้กัน ทั้งนี้ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศล่าสุดของวันนี้
ขณะที่ทางด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นทางด้าน นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นมาอีก 188 ราย รวมเป็นผู้ป่วยสะสมในปัจจุบันทั้งหมด 599 ราย กลับบ้านแล้ว 45 ราย และยังอยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด 533 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีเคสจำนวนผู้ป่วยเท่าเดิม แต่ได้รับการยืนยันเพิ่ม 5 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่รักษาของเราทั้งสิ้น 12 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 1 ราย ยังอยู่โรงพยาบาล 11 ราย ส่วนในกรณีของการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคตอนนี้ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 439 ราย และกลับบ้านไปแล้ว 355 ราย อยู่ที่โรงพยาบาล 84 ราย ซึ่งรวมทั้งผู้ป่วยอีก 11 ราย ที่ได้รับการยืนยัน และสำหรับกรณีของผู้เดินทางจากเขตโรคติดต่อตอนนี้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 418 ราย โดยกักตัวอยู่ที่บ้าน 153 ราย และอยู่ในสถานที่ที่มีการจัดไว้ให้อีก 16 ราย ตรวจพบแล้ว 228 ราย และอยู่ในระหว่างการติดตามอีก 21 ราย
ส่วนกรณีผู้ป่วยใหม่ที่ค้นพบเมื่อวานจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย รายแรก เป็นผู้ป่วยเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 57 ปี อาชีพเป็นเจ้าของกิจการ โดยเจ้าตัวได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอังกฤษ กับลูกสาวและหลานชาย กลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 12 มี.ค.2563 และอยู่บ้านตลอดไม่ได้ออกไปไหนและกักตัวเองทั้งครอบครัว โดยผู้สัมผัสทั้งหมดได้รับการตรวจยืนยันเรียบร้อย ส่วนผู้ป่วยรายที่สอง เป็นชายชาวต่างชาติสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 66 ปี มีบ้านพักที่เชียงใหม่ เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 และวันที่ 19 มี.ค.2563 มีอาการป่วย โดยกรณีนี้ไม่มีผู้สัมผัสในจังหวัดเนื่องจากตอนที่ลงเครื่องผู้ป่วยรู้ตัวดีและให้ภรรยานำรถไปจอดรอที่สนามบินและเดินทางกลับเอง
และรายที่สามเป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 35 ปี อาชีพนวดแผนไทย โดยมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.63 และมานอนโรงพยาบาลทันที โดยผู้สัมผัสจะมีทั้งหมด 4 คนที่บ้าน และอีก 10 คนในที่ทำงาน ส่วนผลการติดตามที่มาว่าติดมาจากไหนนั้นยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทั้ง 3 ราย นั้นได้ขอให้ดูแลตัวเองและไม่ต้องรีบมาตรวจเลือดหรือสารคัดหลั่งเนื่องจากยกเว้นกรณีที่มีไข้มีอาการไอ ก็สามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทันทีโดยจะมีการเข้าสู่ระบบการติดตามต่อไป