แบงก์ชาติอัด 1 ล้านล้าน สกัดคนแห่ไถ่ถอนกองทุน

แบงก์ชาติอัด 1 ล้านล้าน สกัดคนแห่ไถ่ถอนกองทุน

"แบงก์ชาติ" ประกาศ 3 มาตรการ ดูแลความเรียบร้อยในตลาดการเงิน ป้องกันการขาดสภาพคล่อง สกัดประชาชนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ซึ่ง ธปท. เริ่มเห็นกลไกตลาดการเงินทำไงไม่เป็นปกติ เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยมีผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเกิดความกังวลและไปเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนบางกองทุน ส่งผลให้กองทุนดังกล่าวต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีออกมา แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะมีเครดิตเรทติ้งที่ดีมากก็ตาม ซึ่งการเทขายสินทรัพย์ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะมีคนมาไถ่ถอนหน่วยลงทุน ได้ส่งผลซ้ำเติมตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพคล่องมีจำกัด จึงส่งผลกระทบต่อมูลค่าของหน่วยลงทุนด้วย 

“ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เราคิดว่า ต้องมีมาตรการเพื่อลดความกังวลของผู้ถือหน่วยลงทุน หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อกลไกการทำงานของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดบรวม”

นายวิรไท กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนใน 3 ด้าน เพื่อดูแลความเรียบร้อยของตลาด

โดยมาตรการแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจมีความกังวลและพากันมาไถ่ถอน ดังนั้น ธปท. จึงได้จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยที่ ธปท. อนุญาตให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้ โดย ธปท.พร้อมดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าตลาดเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่กองทุนดังกล่าว จะมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ามีขนาดที่ใหญ่เพียงพอ

มาตรการที่ 2 ถ้ามองไปข้างหน้า พบว่า มีหุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้เอกชนที่จะมีการครบกำหนดไถ่ถอนในแต่ละปีจำนวนหนึ่ง ซึ่งในภาวะปกติ หุ้นกู้เหล่านี้สามารถต่ออายุ(โรโอเวอร์) ได้ไม่ยาก แต่ในภาวะที่ตลาดบางผิดปกติ หลายหน่วยงานตั้งแต่สมาคมธนาคารพาณิชย์ สมาคมธุรกิจประกันภัย ธนาคารออมสิน และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) จะร่วมกันจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ เรียกว่าเป็น “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” เพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท โดยตอนนี้มีผู้แจ้งความจำนงค์เข้าร่วมแล้ว 80,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าว จะทำหน้าที่ คือ เมื่อมีตราสารหนี้คุณภาพดีครบกำหนดแล้วต้องการโรโอเวอร์ หากระดมทุนได้ไม่ครบ กองทุนนี้จะเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ ผู้ออกหุ้นกู้เอกชน สามารถโรโอเวอร์ได้ โดยเงินที่ท็อปอัพเป็นเงินระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน 

มาตรการที่ 3 เป็นกลไกที่ดูแลตลาดบอนด์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของตลาดตราสารหนี้ โดยช่วงที่ผ่านมาบอนด์ยิลด์มีความผันผวนสูงมาก เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความต่างจากช่วงเวลาปกติ ซึ่ง ธปท.พร้อมจะเข้าไปดูแลให้ตลาดบอนด์รัฐสามารถทำงานได้ตามกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ หากพบว่า ตลาดขาดสภาพคล่อง เราก็พร้อมเข้าไปดูแล