ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’ เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’  เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาท’ เผชิญความเสี่ยง และเปราะบางมากสุดในบรรดาค่าเงินเอเชีย ในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออก ผันผวนตาม ‘ดอลลาร์ - หยวน’ และช่วงสงครามการค้า ‘สหรัฐ - จีน’ ปะทุ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึง “ค่าเงินบาท” ของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่เปราะบางที่สุดในกลุ่มค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ในยุคของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะว่าไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่าค่าเงินบาทไทยมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินหยวนจีน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่มีมูลค่าสูงเกินจริงมากที่สุดเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้า และจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ปี 2561 ภายหลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรในต้นปี ชี้ให้เห็นว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะผันผวนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ในขณะที่พิจารณาสกุลเงินต่างๆ ในเอเชีย พบว่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และรูปีอินเดียแสดงความยืดหยุ่นที่ดีต่อนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายภาษีศุลกากร นอกจากนี้ เมื่อดัชนีดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม จากการที่นักลงทุนประเมินความเสี่ยงการเลือกตั้งสหรัฐ สกุลเงินทั้งสองนี้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

คริสโตเฟอร์ หว่อง นักวิเคราะห์สกุลเงินจากธนาคาร OCBC ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่ระยะเวลา และระดับการบังคับใช้ภาษีศุลกากร ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

บลูมเบิร์กได้รวบรวม 4 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในเอเชีย

1. 'เงินบาท' มูลค่าสูงเกินจริง 

เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยวัดจากดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (REER) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.5% ตามข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ดัชนี REER เป็นตัวบ่งชี้ความแข็งแกร่งของสกุลเงินเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในตะกร้าที่กำหนดไว้ การที่ REER สูงขึ้นหมายความว่าสินค้า และบริการที่ผลิตในประเทศไทยมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’  เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ไทยมีปริมาณการค้าระหว่างประเทศสูงที่สุดในภูมิภาค คิดเป็น 129% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยจีน และสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดสองอันดับแรก รวมกันรองรับการส่งออกของไทยถึง 1 ใน 3

ด้วยการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูงนี้ หากทรัมป์ออกมาตรการจำกัดการนำเข้า นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าของไทยอาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

2.‘ดอลลาร์’ แข็ง ฉุดเงินบาทอ่อนค่า 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ถึง 8 พ.ย.67) เปโซ และรูปีแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ตามดัชนี Bloomberg Dollar Spot ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดให้ความสนใจกับชัยชนะของทรัมป์เป็นอย่างมาก ความผันผวนของสกุลเงินทั้งสองน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อย่างเช่น เงินหยวน วอน และบาท ที่อ่อนค่าลงตามดอลลาร์สหรัฐ

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’  เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

หากนโยบายของทรัมป์ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจริง สกุลเงินเปโซ และรูปีอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุน เนื่องจากดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยนี้มากนัก ในขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคอาจเผชิญแรงกดดันให้ค่าอ่อนค่าลง

3. นโยบายทรัมป์ทำ 'ค่าเงินเอเชีย' ผันผวน

การประกาศภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ 30% ในช่วงต้นปี 2561 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่แน่นอนที่ส่งผลให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่มีความผันผวนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับความเสถียรในปี 2560 

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’  เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

นโยบายการค้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งพร้อมกับสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ สะท้อนว่าสกุลเงินในเอเชียมีแนวโน้มที่จะผันผวนในอีกหลายเดือนข้างหน้า เมื่อมีการประกาศรายละเอียดของนโยบาย

4. บาทผันผวนตาม ‘หยวน’ ของจีน

ต่างชาติวิเคราะห์ ‘ค่าเงินบาทไทย’  เผชิญความเสี่ยงมากสุดในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’

ในปี 2561 ช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนทวีความรุนแรงขึ้นจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ การวิเคราะห์พบว่าบาท และริงกิตมีความผันผวนตามเงินหยวนอย่างชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะที่ เปโซ วอน และรูปี มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของเงินหยวนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าสกุลเงินเหล่านี้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ

 

อ้างอิง Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์