สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ผลกระทบผู้ประกอบการ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มามองมุมผู้ประกอบการกลุ่มนี้กันว่า ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และสาหัสแค่ไหน?
[บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 หน้า 6 EEC Focus]
สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ มีผู้ป่วยรวมกันมากกว่า 200,000 คน เสียชีวิต 7,981 ราย โดยประเทศ TOP5 ประกอบด้วย จีน อิตาลี อิหร่าน สเปน และเยอรมนี ในขณะที่ข้อสังเกตช่วงที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการเร่งตัวของผู้ป่วยสูงขึ้นจนรัฐบาลมีมาตรการควบคุม เช่น การไม่หยุดราชการวันสงกรานต์ ปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานบันเทิง สถานบริการนวดแผนโบราณ
ตลอดจนมาตรการเยียวยาต่างๆ บริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ได้สำรวจสถานการณ์และมาตรการของลูกค้าในการรับมือโควิด-19 มีรายละเอียด ดังนี้ 1.มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป ซึ่งมีสำนักงานสาขาในปริมณฑลและต่างจังหวัด 20 สาขา มีมาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการฉุกเฉินกรณีที่พนักงานต้องกลับไปทำงานที่บ้าน
2.ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก-นำเข้าแจ้งงดไม่ให้ซัพพลายเออร์ หรือบริษัทคู่ค้าเข้าพบ หากจำเป็นจะเป็นการพูดคุยทางไลน์หรือวิดีโอคอล
3.การเข้า-ออกบริษัทต่างๆ มีความเข้มงวด (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร) หากเป็นบุคคลภายนอกต้องนัดล่วงหน้าจะมีแบบฟอร์ม บ่งชี้ตรวจสอบย้อนหลังของผู้ที่เข้า-ออกทั้งสำนักงานและโรงงาน เช่น ชื่อ, บริษัทที่สังกัด, ที่อยู่, โทรศัพท์ สถานที่ที่ไปก่อนหน้า 7 วัน
4.บริษัทต่างๆ ทั้งรายใหญ่และขนาดกลางให้พนักงานทำงานที่บ้าน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผลัดกันมาทำงาน 3 วันบ้าง 2 วันบ้าง ส่วนในโรงงานจะให้ล้างมือ ทั้งด้วยน้ำและเจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนการปิดผ้าหรือหน้ากากอนามัย
5.สถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและมีราคาแพง หากซื้อราคาขายปลีกสำหรับผ้าปิดจมูกผืนละ 10-30 บาท หน้ากากอนามัยแผ่นละ 20 บาท ถ้าหากสั่งซื้อจำนวนมากสำหรับผ้าปิดจมูก 1 โหล (12 ชิ้น) ประมาณ 70 บาทและหน้ากากอนามัย 1 กล่อง (50 ชิ้น) ราคา 500-700 บาท
6.สถานการณ์ของลูกค้าที่เป็นโรงงานในเขตปริมณฑลงานและการผลิตลดลง ทั้งจากออเดอร์ที่ลดลง และขาดวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า ซึ่งเดิมมีเฉพาะจีน แต่ปัจจุบันลามไปอาเซียน เอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปและสหรัฐ
7.สถานการณ์ชัดเจนมากขึ้นตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เดิมมีรถบรรทุกเข้า-ออก แต่ปัจจุบันเงียบหลายนิคมทั้งในเขตปริมณฑลและภาคตะวันออก สำหรับสินค้าคงคลังมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งจากการส่งออกไม่ได้ ขณะเดียวกันจากความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการ ทำให้สต็อกสินค้ามากขึ้น และบริษัทส่วนใหญ่ใหเพนักงานทำงานที่บ้าน แต่ประชาชนและแรงงานของจีน ยังมีความกังวลว่าเมื่อกลับมาทำงานจะมีความปลอดภัยหรือไม่
8.สถานการณ์จีนช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่มีการแพร่ระบาด สายการเดินเรือที่ไปท่าเรือหลักมีสินค้าไม่พอ มีการยุบตู้รวมไปเรือลำเดียวกัน ณ กลางเดือน มี.ค. สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มขาดแคลน เพราะจากตู้ที่ส่งออกไปกักตามท่าเรือของจีน เช่น ท่าเรือเซี่ยงไฮ้, ท่าเรือกว่างโจว, ท่าเรือชิงเต่า แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นโรงงานเริ่มทยอยเปิด 40% ทำให้เริ่มมีการส่งออก และนำเข้าจากจีน
9.มาเลเซียปิดประเทศไม่ให้เข้า-ออก ตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค.2563 ภาคใต้ประกาศปิดพรมแดนทุกด่านโดยแจ้งล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้คนไทย รวมถึงรถบรรทุกออกจากประเทศ โดยห้ามรถบรรทุกทุกชนิดจากไทย ทำให้โรงงานต้องชัตดาวน์เครื่องกระทบต่อแรงงานหลักแสนคน
10.เมียนมาพบคนติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น จึงมีมาตรการภายในแต่ยังไม่เข้มงวด ด่านด้านชายแดน เช่น ด่านแม่สอด-เมียวดีห้ามรถไทยไปค้าง สำหรับขาออก เปลี่ยนเวลาเข้า-ออกให้เร็วขึ้นจากเดิมเปอดด่านเมียวดี 06.30-18.30 น. (ตามเวลาเมียนมา) แต่เวลาใหม่เป็น 06.30-14.30 น.