Covid-19 กับขยะที่ยังไม่ได้จัดการ
วิกฤติ COVID-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข ยังสะเทือนไปถึงภาคเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ วันนี้ภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ยังสร้างปัญหาขยะตามมาด้วย ทั้งขยะติดเชื้อ ขยะอันตราย รวมถึงกลุ่มขยะที่มาจากกลุ่มขยะจากการส่งอาหารเดลิเวอรี่ด้วย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปัญหา COVID-19 สามารถทำให้เกิดปัญหาขยะตามมาได้ด้วย ปัญหาที่ว่านี้มาจากต้นกำเนิดใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหน้ากากอนามัยแบบที่ชาวบ้านใช้ รวมทั้งหน้ากากทางการแพทย์ เช่น N95 และกลุ่มขยะจากการส่งอาหารอันเนื่องมาจากคำสั่ง lock down เมือง ให้ประชาชนเลิกหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางและให้อยู่กับบ้าน
ซึ่งหนีไม่พ้นที่ชาวบ้านต้องสั่งอาหารให้พี่วินมาส่ง หรือไม่ก็ต้องไปสั่งอาหารจากร้านค้าหรือศูนย์อาหาร โดยต้องสั่งเป็นแบบ take away แทนการนั่งกินที่ร้าน และก็หนีไม่พ้นเช่นกันที่ต้องใช้ถุงพลาสติกและภาชนะพลาสติกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถาด ซอง กล่อง หรือแม้กระทั่งช้อน ส้อม และไม้จิ้ม
ปัญหาขยะที่เกิดจากปรากฏการณ์ COVID-19 นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ใครๆ ก็สามารถเดาได้ว่าขยะมันต้องเพิ่มขึ้นและสัดส่วนของพลาสติกในขยะก็ต้องสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ขยะที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มหน้ากากอนามัยจะถือว่าเป็นขยะการแพทย์ (medical waste) หรือขยะติดเชื้อ (infected waste) ซึ่งเป็นขยะอันตราย (hazardous waste) ที่จะทิ้งรวมไปกับขยะทั่วไปหรือขยะชุมชนไม่ได้
ถ้าเป็นขยะอันตรายหรือขยะติดเชื้อที่หมอหรือพยาบาลใช้ในโรงพยาบาล ขยะนี้ก็คงเป็นปัญหาไม่มาก เพราะโดยปกติแล้วขยะพวกนี้โรงพยาบาลต้องส่งไปเผาที่เตาเผาอุณหภูมิสูงที่ทางการรับรอง แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยตามคลินิกขนาดเล็ก หรือที่ชาวบ้านใช้ตามบ้านเรือนหรือแม้กระทั่งตามร้านค้า ซึ่งตามคำจำกัดความและการใช้งานแล้วขยะพวกนี้ต้องถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเช่นกัน
ซึ่ง ณ เพลานี้ เรายังไม่มีการจัดการใดๆ เลยกับขยะพวกนี้ เพราะทุกวันนี้เรายังทิ้งลงถังขยะธรรมดาในบ้าน ในร้านค้า หรือตามตลาด ห้าง ฯลฯ ขยะติดเชื้อพวกนี้จึงเป็นภาระและปัญหากับพนักงานเก็บขยะมาก และหากพวกเขาโชคร้ายเกิดติดเชื้อขึ้นมาพวกเขาก็จะเป็นพาหะที่นำพาเชื้อไปได้ทั่วเมืองทั้งประเทศ เราจึงต้องมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ เช่น รัฐต้องสั่งผลิตและแจกฟรีถุงพลาสติกสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยเฉพาะให้กับประชาชน โดยมีการพิมพ์ข้อแนะนำการปฏิบัติต่อหน้ากากอนามัยใช้แล้วนี้บนถุงอย่างถูกวิธีทางการแพทย์ (โดยขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) และทางการระบาดวิทยา (คือไม่เป็นภัยต่อคนเก็บขยะ)
สำหรับขยะที่เกิดจากการสั่งอาหารมาส่ง หรือการไปสั่งอาหารกลับมากินที่บ้าน ขยะพวกนี้นอกจากเศษอาหารหรือส่วนที่กินไม่หมดแล้ว จะเป็นกระดาษและพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ขยะส่วนนี้จะเพิ่มปริมาณจากภาวะปกติได้ถึง (เดาว่า) กว่า 50% ซึ่งนั่นหมายถึงสถานการณ์การผลิตขยะในชุมชนจะเกินขีดความสามารถในแต่ละวันของรถเก็บขนขยะของท้องถิ่น รวมทั้งไปลดอายุการใช้งานของหลุมขยะ (บ่อเต็มเร็ว) ตลอดจนไปรบกวนการทำงานของโรงกำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นโรงหมักทำปุ๋ย โรงไฟฟ้าจากขยะ หรือโรงรีไซเคิล ฯลฯ ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันนี้
นี่คือปัญหาที่ต้องการการจัดการโดยด่วนในระยะสั้น เช่น ซ่อมบำรุงรักษารถขยะให้เร็วขึ้น (จะซื้อใหม่คงไม่ทันกาล) ส่งรถขยะออกตระเวนเก็บถี่ขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนต้องใช้งบที่เพิ่มเป็นพิเศษ รัฐจึงต้องมีแผนงานมารองรับไว้ตั้งแต่บัดนี้
นอกจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมากแล้วนี้ สัดส่วนขององค์ประกอบของขยะโดยรวมก็จะเปลี่ยนไปด้วย กระดาษและพลาสติกจะมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งข้อเสียของพลาสติกคือกำจัดไม่ได้ด้วยการย่อยสลายหรือการทำเป็นปุ๋ย แต่ข้อดีของทั้งกระดาษและพลาสติกคือมันมีคุณค่าทางความร้อน (heat value) ซึ่งแปลว่ามันเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี สามารถเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ แต่ได้เท่าไรนี่ไม่รู้
นี่คือปัญหาเพราะเป็นตัวเลขข้อมูลที่ไม่มีใครรู้และไม่มีในตำรา จะรู้ได้ก็ต้องเร่งทำการวิจัยและเก็บข้อมูล ซึ่งต้องทำตอนนี้เท่านั้น จะรอไปนานๆ เป็นธุรกิจแบบปกติ หรือ business as usual ไม่ได้ ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรใช้งบกลางหรืองบอะไรก็ได้ที่เอามาใช้ได้ทันทีและเฟ้นหาคนเก่งๆ มาทำงานวิจัยนี้โดยระบบ "ลัดทาง" คือไม่ไปผ่านกระบวนการปกติที่ล่าช้าเกินไป เพราะหากเลยช่วงวิกฤตินี้ไปข้อมูลก็จะไม่มีให้เก็บแล้ว
ตัวเลขพวกนี้จะสามารถนำไปใช้กับกรณีวิกฤติอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นไวรัสตัวใหม่ อาจเป็นเรื่องของการปิดเมืองเนื่องจากผลทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม (เกิดการเคยตัวเพราะความสะดวกจากการไม่ต้องขับรถหรือเดินทางไปร้านอาหาร ซึ่งหากคิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วน่าจะสูงกว่าค่าส่งอาหารโดยพี่วิน อย่างมากเสียด้วยซ้ำ) และเมื่อวิกฤตินั้นมาถึงจริง เราก็จะมีความรู้และข้อมูลที่นำมาใช้วางแผนและปฏิบัติการได้ทันท่วงที เห็นประเทศจีนและเกาหลีใต้ เขาคิดและสั่งการรวมทั้งปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วและทันทีแล้ว เราก็อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้นบ้างจัง