100 วันแห่งความวิกฤติโควิด กับ "มาตรฐานชีวิตใหม่" ที่มนุษย์จะต้องเผชิญ
ผ่านไปกว่า 100 วัน กับการที่กว่า 200 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ต้องเผชิญกับโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ประชากร 1 ใน 3 ของโลกถูกจำกัดการเดินทาง กระทบต่อชีวิต ขาดรายได้ เข้าสู่ความยากจน และในอนาคตมนุษย์อาจเผชิญกับมาตรฐานการดำเนินชีวิตใหม่
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่า นับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ขณะนี้โลกได้ผ่านเหตุการณ์ที่พวกเราคาดไม่ถึงมาครบ 100 วันแล้ว หลายคนบอกว่าเหตุการณ์นี้จะรุนแรงพอๆ กับไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ.2461) หลายคนบอกว่าผลกระทบของโควิด 19 รุนแรงและกว้างขวางกว่าเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ในรอบ 100 ปี ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457-2461) สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) วิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย (วิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540) โรคระบาดซาร์ส (SARS พ.ศ.2546) วิกฤติการณ์ซับไพร์ม (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ พ.ศ.2551) โรคระบาดเมอร์ ( MERS พ.ศ.2555)
เมื่อ 100 วันที่แล้ว ถ้ามีคนบอกว่าโลกเริ่มมีโรคระบาดใหม่ ทำให้คนเป็นปอดบวมเสียชีวิตได้ และบอกว่าจะมีคนติดเชื้อนับล้านคน เสียชีวิตเรือนแสน และการระบาดจะแพร่ไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ ก็คงจะไม่มีใครเชื่อ ณ ปัจจุบัน (11 เม.ย 2563) เราพบว่าความกว้างขวางและรุนแรงนั้นได้เป็นไปตามที่เราบอกว่า เหลือเชื่อเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ
- จำนวนประเทศ (และเขตปกครอง) ที่มีโรคระบาด 212 ประเทศ
- ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 166 ประเทศ
- จำนวนผู้ติดเชื้อ 1,694,078 คน (เกินล้านคน)
- จำนวนผู้เสียชีวิต 102,570 คน (เกินแสนคน)
- มีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าแสนคน 5 ประเทศ
- มีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าหมื่นคน 19 ประเทศ
- มีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าพันคน 64 ประเทศ (ไทยอยู่ลำดับที่44)
มีผู้ประมาณการว่าโรคระบาดครั้งนี้ เพียงแค่ 100 วันแรก ก็ทำให้ประชากรโลกกว่า 1 ใน 3 (2500 ล้านคน) ถูกจำกัดการเดินทาง กระทบวิถีชีวิตการทำมาหากิน ขาดรายได้ และจะมีผู้เข้าสู่คำนิยามว่าเป็นคนยากจนนับร้อยล้านพันล้านคน
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจไวรัสใหม่ตัวนี้เพิ่มขึ้น ก็ทำให้เราตระหนักว่า ความรุนแรงและความกว้างขวางนั้น มากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ไว้เมื่อสองสามเดือนก่อนมาก ทุกประเทศจึงต้องปรับแผนและมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมเข้มข้นยิ่งขึ้น และยังไม่มีใครบอกได้ว่า วิกฤติการณ์นี้จะจบสิ้นลงเมื่อใด
"แต่หลายคนเชื่อว่าเมื่อวิกฤติการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้แล้ว วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน เปลี่ยนจากเดิมอย่างมาก จนอาจเรียกว่า “มาตรฐานการดำเนินชีวิตใหม่” หรือ “New Normal” ซึ่งไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ทุกคนจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปด้วยกัน และสมควรที่ทุกคนทุกประเทศ จะต้องเตรียมการรองรับ การเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งของมนุษยชาติในเร็ววันนี้" นพ.เฉลิมชัย ระบุ
- อะไรคือ "มาตรฐานการดำเนินชีวิตใหม่"
นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานการดำเนินชีวิตใหม่” หมายถึง แนวโน้มของมนุษยชาติที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน หลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในมิติการทำงานและการพักผ่อน จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
ด้านการทำงาน จะมีการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ จะลดจำนวนคนลงได้เป็นอย่างมาก ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างประเทศจะลดลงลักษณะงานจะทำให้ต้องพึ่งตนเองมากขึ้น ทั้งในระดับปัจเจก และในระดับประเทศ
ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อความมีเสถียรภาพ จะพึ่งรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวน้อยลง
ในระดับปัจเจก ชุมชนและครอบครัว จะตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เน้นการลดรายจ่ายมากกว่าการเพิ่มรายได้ที่ต้องพึ่งพาปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้
"เรื่องการพักผ่อน จะมีแนวโน้มที่คนจะใช้ชีวิตมีความสุขในครอบครัวมากขึ้น ออกไปนอกบ้านน้อยลง เพราะเห็นว่าในช่วงภาวะโรคระบาด ความสุขที่แท้จริงก็อยู่ใกล้ใกล้ตัวเรานี่เอง ทำอะไรทานกันเองพักผ่อนกันในครอบครัวและเดินทางท่องเที่ยวในชุมชนในประเทศมากขึ้น" นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าว