ธปท.เลื่อน ‘รื้อค่าฟี’ หนุนแบงก์อุ้มลูกค้า
"ธปท." ทบทวนแผนออกหลักเกณฑ์คิด "ดอกเบี้ย -ค่าธรรมเนียม" ทั้งระบบ เพื่อให้แบงก์ใช้เป็นแนวปฏิบัติ จากเดิมคาดออกกลางปีนี้ ชี้อาจไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม จาก "โควิด-19" ระบาด เชื่อทุกแบงก์ให้ความสำคัญกับการช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการทบทวนเรื่องการออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ย และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกประเภทของสถาบันการเงินอีกครั้ง ว่าเป็นเวลาหรือไทม์มิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ จากเดิมคากว่าจะดำเนินการในช่วงกลางปีนี้ เพราะขณะนี้เชื่อว่าทุกแบงก์ ให้ความสำคัญกับการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19
นอกจากนี้ ในการออกเกณฑ์ปฏิบัติต่างๆทุกครั้ง จำเป็นต้องหารือ หรือเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง)จากสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินก่อน ภาวะนี้อาจไม่เหมาะ หรือยากลำบากมากขึ้น จากจำนวนคนทำงานที่ลดลง การประชุมร่วมกันยากลำบากมากขึ้น ธปท.จึงขอพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่ายังมีเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่
“ เรายังมีการหารือแบงก์ และสมาคมแบงก์อยู่ ถึงหลักการกำหนดค่าฟีต่างๆ เพราะเป็นนโยบายที่ธปท.ต้องศึกษาต่อ ทำต่อ แต่ไทม์มิ่งต้องดูนิดนึง เพราะแบงก์ยุ่งกับการดูแลลูกหนี้อยู่ ดังนั้นช่วงนี้อาจไม่เหมาะสม ดังนั้นเราขอดูเวลาสักนิดนึง ต้องดูจังหวะเวลา แต่ระหว่างนี้เราก็ยังทำงาน ทำเกณฑ์เรื่องนี้กันอยู่ ส่วนจะอยู่ในแผนเดิมที่คาดไว้หรือไม่ อันนี้ยังไม่กล้ารับปาก”
สำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การเสนอโปรดักท์ทางการเงินต่างๆผ่านสถาบันการเงิน โดยคำนึงถึงการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักท์) เชื่อว่าปัจจุบันสถาบันการเงินตระหนัก และให้ความสำคัญในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงหลักเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์มากขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากเทียบกับก่อนหน้านี้ มีความระมัดระวังในการนำเสนอหรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น ทำให้การร้องเรียนเกี่ยวกับมาร์เก็ตคอนดักท์มีน้อยลงมาก
โดยเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธปท.วางไว้ โดยยึดหลักสำคัญ 4 ข้อ คือ ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการจนเกินสมควร และคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ให้บริการ ต้องไม่เรียบเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมชัดเจน
“ตอนนี้แนวโน้มการร้องเรียน เกี่ยวกับมาร์เก็ตคอนดักท์มีแนวโน้มดีขึ้นมาก เพราะแบงก์เข้าใจถึงหัวใจของเกณฑ์นี้มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น โดยยึดหลัก 4 ด้านที่เราวางไว้ คือไม่หลอก ไม่เอาเปรียบ ให้ข้อมูลครบถ้วน ไม่เซ้าซี้ ทำให้การร้อนเรียนไม่ค่อยมี เพราะแบงก์มีการสื่อสารมากขึ้น พนักงานเข้าใจมากขึ้น เพราะไม่มีใครอยากถูกเทียบปรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่เราอยากเห็น ผู้ใช้บริการทางการเงินก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น”