อสม.GRAB DRUG ส่งยาเดลิเวอรี่ให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย สู้โควิด-19
เชียงราย ไม่ตกเทรนด์สู้โควิด-19 อสม.GRAB DRUG ขี่จักรยานยนต์ ตระเวนส่งยาให้กับผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนใน 4 หมู่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านแห่ชื่นชมทำหน้าที่ ช่วยกันตอบแทนน้ำใจอสม.บริจาคทุนซื้อกล่องใส่ยา-เย็บถุงผ้าใส่ยาให้ฟรี
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในทุกเช้าเป็นเวลาร่วมเดือนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ะระบาดของโควิด-19 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จะเห็นภาพของประธานอาสามัครสาธารณสุข จาก 4 หมู่บ้านสวมใส่หน้ากากอนามัย และถือถุงผ้า เข้ามารับยา ก่อนจะใส่หมวกกันน็อคขับจักรยานยนต์ ไปกระจายต่อให้กับอาสามัครสาธารณสุขอีก 53 คน นำยาไปแจกจ่ายถึงหน้าบ้านของผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ป่วยต่างพากันชื่นชมที่ไม่ต้องเดินทางออกไปรับยาเอง และยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้อีกด้วย
นางบุษบง ไชยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีความเป็นห่วงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังที่่ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลอำเภอเชียงแสน จึงได้หาวิธีการที่ปลอดภัย ด้วยการประสานงานกับทางประธานอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ทั้ง 4 หมู่บ้านของตำบลป่าสัก ด้วยการเข้ามาเป็นตัวแทนในการรับยาไปส่งต่อให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ที่มีจำนวนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับโดยจะทำหน้าที่เข้ามารับจากจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ก่อนจะกระจายยาไปยังอสม.อีก53 คน นำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายถึงหน้าบ้าน
ทั้งนี้ มองว่าในภาวะแบบนี้มีคนส่งอาหาร หากจะมีการส่งยาด้วยก็น่าจะทำได้ จึงได้ตั้งหน่วย GRAB FOOD ขึ้นมา ซึ่งวิธีการทำงานของอสม.ก็จะมารับยาในทุกเช้า บางครั้งก็วันเว้นวัน จากนั้นจะนำยาใส่ในถุงผ้าตามรายชื่อของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยของ 4หมู่บ้าน โดยจะสวมใส่หน้ากากอนามัย และสวมหมวกกันน็อค ก่อนจะขี่จักรยานยนต์เข้าไปในหมู่บ้าน มอบให้อสม.แต่ละคนนำไปมอบให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการกันมาร่วมเดือนแล้ว และชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างพอใจที่ได้รับความสะดวก และมีความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่ต่างมีความกังวลและกลัวว่าหากไปนอกสถานที่ หรือไปโรงพยาบาลอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19ได้
“สิ่งที่ดีใจคือ พอชาวบ้านเขารู้ว่าเราจะนำยาออกไปส่งให้ถึงบ้านนั้น ได้มีการช่วยกันบริจาคเงินซื้อกล่องยาที่ใช้บรรจุยาหลังรถจักรยานยนต์ 4กล่อง และยังช่วยกันเย็บถุงผ้าเพื่อนำมาใส่ยา เพื่อตอบแทนน้ำใจให้กับอสม.ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลชาวบ้าน ” นางบุษบง กล่าว