ส่องตัวเลข ‘ว่างงาน’ ทั่วโลก เซ่นพิษ ‘โควิด’ อุตสาหกรรมไหนเสี่ยงตกงานสุด!?
สถานการณ์คนว่างงานทั่วโลกเข้าขั้นสาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปี ผลจากวิกฤติโควิด-19 คาดว่า 4 ใน 5 คนที่เราเดินสวนหรือพบเจอทุกวันนี้ ล้วนได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของธุรกิจช่วงไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาด แล้วลูกจ้างอุตสาหกรรมใดกระทบหนักที่สุด
ข้อมูลล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า มาตรการล็อคดาวน์เพื่อคุมการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้สถานที่ทำงานหรือธุรกิจต้องปิดกิจการหรือปิดทำการชั่วคราว
เมื่อธุรกิจปิดทำการย่อมไม่มีรายได้เข้า หลายบริษัทจึงเลือกลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างพนักงานหรือหยุดจ่ายเงินเดือนชั่วคราว ตัวเลขของ ILO เผยว่า 81% ของแรงงานทั่วโลกกว่า 3,300 ล้านคนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ และคาดว่าจะมีพนักงานประจำกลายเป็นคนว่างงานราว 195 ล้านคน
“แรงงานและธุรกิจกำลังเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ ทั้งในเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจกำลังพัฒนา” กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เผย “เราต้องจัดการเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และพร้อมเพรียงกัน มาตรการที่เหมาะสมและเร่งด่วน อาจเป็นตัวชี้ชะตาว่าเราจะอยู่รอดหรือจะล่มสลายกันหมด นี่ถือเป็นวิกฤติเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2”
ILO ชี้ว่า การว่างงานเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีนี้จะหนักหนาสาหัสขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย อย่างแรกคือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วแค่ไหนในช่วงครึ่งปีหลัง และมาตรการด้านนโยบายของรัฐบาลช่วยกระตุ้นความต้องการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
- อุตสาหกรรมไหนกระทบหนักสุด
ข้อมูลของ ILO เผยว่า แต่ละภาคอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปในวิกฤติโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมบริการที่พัก/โรงแรม และอุตสาหกรรมการผลิต ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ด้วยเหตุที่หลายประเทศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) จึงไม่น่าประหลาดใจที่ภาคโรงแรมและอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เจ็บหนักที่สุด ร่วมกับอุตสาหกรรมการผลิต ค้าส่งและค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์
ในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแรงงานรวมกันราว 1,250 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 38% ของจำนวนแรงงานทั่วโลก โดยทวีปอเมริกาและยุโรปมีพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูงนี้มากที่สุด
หากประเมินเป็นรายประเทศ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวมสถานการณ์การว่างงานในเศรษฐกิจสำคัญของโลกไว้ดังต่อไปนี้
- สหรัฐ
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐ เผชิญกับตัวเลขว่างงานสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 เมื่อชาวอเมริกันกว่า 26 ล้านคนต้องตกงานในช่วงโควิด-19 ระบาดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งแซงหน้าตัวเลขสร้างงานใหม่ในประเทศตลอด 11 ปีที่ผ่านมา
วันที่ 23 เม.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่า มีชาวอเมริกันลงทะเบียนขอรับสวัสดิการว่างงาน 4.427 ล้านคนในสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้จำนวนชาวอเมริกันว่างงานสะสมในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 อยู่ที่ 26.45 ล้านคน
ทั้งนี้ ยอดสะสมคนว่างงานล่าสุดของสหรัฐ แซงหน้าการจ้างงานใหม่ในประเทศรวม 22.442 ล้านคนนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2552 ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมาจ้างงานเพิ่มหลังผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2551
ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิดสะสมในสหรัฐทะลุกว่า 8 แสนคน และผู้เสียชีวิตกว่า 5 หมื่นคน (นับถึง 23 เม.ย.) มากที่สุดในโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
- จีน
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว ต้องรับมือกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงไวรัสระบาดเช่นกัน และตัวเลขจริงอาจมากกว่าที่ทางการเปิดเผยถึง 2 เท่า
ตัวเลขจีดีพีของจีนร่วงลงเหลือ 6.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากการล็อคดาวน์ทั่วประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงัก แต่ขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่งได้ยกเลิกมาตรการคุมเข้มการระบาดในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว เพื่อพยายามให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ระบบคุ้มครองทางสังคมของจีนไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานในช่วงโควิดอย่างทั่วถึง
สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม เผยว่า มีประชาชน 2.3 ล้านคนได้รับสวัสดิการว่างงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 5.9% หรือ 26 ล้านคนในเดือน มี.ค. จาก 5.2% หรือ 23 ล้านคนในเดือน ธ.ค. 2562
หลู ไห่ ศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานของจีน บอกว่า สถานการณ์นี้อาจเลวร้ายลงอีก เนื่องจากภาคการส่งออกซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ในหลายตลาด เช่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ
“หากรัฐไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหานี้ อัตราว่างงานอาจเพิ่มขึ้นอีก 10-15%”
ขณะที่ จวง โป๋ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัย ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุว่า จำนวนคนว่างงานที่แท้จริงในจีนอาจมากกว่าตัวเลขทางการถึง 2 เท่า หากนับรวมแรงงานต่างถิ่น 50 ล้านคนที่หางานทำนอกมณฑลบ้านเกิดไม่ได้
- ญี่ปุ่น
สถานการณ์ในญี่ปุ่น ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกก็ไม่สู้ดีนัก บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจในช่วงโควิด อาจทำให้มีคนตกงานสูงกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551
ทาโร ไซโตะ นักวิจัยฝ่ายบริหาร สถาบันเอ็นแอลไอ ญี่ปุ่น เผยว่า ในไตรมาสที่ 4 ชาวญี่ปุ่นจะตกงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2.72 ล้านคน ซึ่งมากกว่าที่เพิ่มขึ้น 1.56 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้จำนวนชาวญี่ปุ่นว่างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 ซึ่งในครั้งนั้น มีชาวญี่ปุ่นว่างงานที่ 9.4 แสนคน ในช่วง 1 ปี เมื่อนับถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2552
ไซโตะ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่ากว่า 100 ล้านล้านเยน (กว่า 30 ล้านล้านบาท) นั้นยังไม่เพียงพอ และคาดว่าอัตราว่างงานของญี่ปุ่นอาจพุ่งเป็น 3.9% ในสิ้นปีนี้ จาก 2.4% ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวเลขทางการยังไม่นับรวมผลกระทบจากไวรัสระบาด
ขณะที่ อิจิโร นัตสึเมะ ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อแรงงานญี่ปุ่น (LLAJ) บอกว่า เหตุการณ์นี้แตกต่างกับช่วงวิกฤติ "เลห์แมน บราเธอร์ส" เมื่อปี 2551 ที่มีแต่ลูกจ้างชั่วคราวในอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด แต่เหตุการณ์นี้สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างในทุกภาคธุรกิจ
- สเปน
ส่วนที่สเปน ซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ มีคนตกงานในช่วงไวรัสระบาดเกือบ 9 แสนคน
วันที่ 2 เม.ย. สำนักงานประกันสังคมของสเปน เปิดเผยว่า แรงงานสเปน 898,822 คนต้องกลายเป็นคนว่างงาน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กระทรวงแรงงานสเปนระบุว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานที่ว่างงานกลุ่มนี้ล้วนเป็นพนักงานชั่วคราว โดยเมื่อนับรวมกับชาวสเปนที่ลงทะเบียนเป็น “บุคคลว่างงาน” ในเดือน มี.ค. พบว่า มีจำนวนสูงถึง 3.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560
โยแลนดา ดิแอซ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวต้นเดือนนี้ว่า ผลกระทบจากโควิดในตลาดแรงงานครั้งนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาก่อน
- สหราชอาณาจักร
สถานการณ์ในสเปนแทบไม่ต่างกับในสหราชอาณาจักร
วันที่ 1 เม.ย. ทางการสหราชอาณาจักร รายงานว่า มีประชาชนเกือบ 1 ล้านคนลงทะเบียนขอรับสวัสดิการว่างงานในช่วง 2 สัปดาห์ ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมากกว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนว่างงานในช่วงปกติประมาณ 10 เท่า
รัฐบาลให้คำมั่นว่า จะจ่ายเงินอุดหนุน 80% ของค่าจ้างสำหรับพนักงานและฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษประกาศว่า จะขยายมาตรการล็อคดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หรือจนถึงวันที่ 7 พ.ค.
- ฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศสก็เผชิญกับความยากลำบากทุกหย่อมหญ้าเช่นกัน ล่าสุด (23 เม.ย.) กระทรวงแรงงานฝรั่งเศส รายงานว่า มีชาวฝรั่งเศสมากถึง 10.2 ล้านคนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีว่างงานชั่วคราว เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง สืบเนื่องมาจากโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของไวรัสนี้ ส่งผลให้บริษัท 8.2 แสนแห่งในฝรั่งเศสหรือประมาณ 60% ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากมาตรการปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. โดยกลุ่มพนักงานบริษัทจะได้รับเงินเดือนจากรัฐในอัตรา 84% ของอัตราเดิม
มอรีล เพอนิโคด์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฝรั่งเศส เผยว่า ในภาคการก่อสร้าง พบว่า 93% ของลูกจ้างจำนวน 1.2 ล้านคน เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือกรณีว่างงาน รวมถึงอีก 90% ของภาคการโรงแรมและภัตตาคาร
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่มงบประมาณเยียวยาแรงงานและช่วยเหลือภาคธุรกิจเป็น 1.1 แสนล้านยูโร (ราว 3.83 ล้านล้านบาท) และเตรียมผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันที่ 11 พ.ค. นี้
--------------------------------------------------
ที่มา: