'สมคิด' เข็นการบินไทย ลุยลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้บางโครงการจะมีปัญหาการหาเอกชนร่วมลงทุน เช่น การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่นอีกระลอกใหญ่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะลดการลงทุนในจีน และเพิ่มการลงทุนในหลายประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทย
“นโยบายของญี่ปุ่นกำลังปรับซัพพลายเชนที่พึ่งพาจีนมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิดทำให้หลายอุตสาหกรรมชะงัก ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะขยายการลงทุนนอกจีนมากขึ้น โดยเป้าหมายอยู่ที่อาเซียนรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นโอกาสของไทยในระยะต่อไป”
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ยังต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ในเมืองการบินอู่ตะเภาเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งการบินไทยจะยังเข้าไปลงทุนต่อได้ ส่วนการที่บริษัท แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ได้ถอนตัวไม่มาลงทุนในโครงการนี้ เป็นเพราะแอร์บัสประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิดแต่ก็ไม่เป็นไร เพราะโครงการนี้เปิดกว้างที่จะเจรจาหาผู้ลงทุนเจ้าอื่นได้
สำหรับแผนการฟื้นฟูการบินไทยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งยังคงยืนยันให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนการบินไทยอยู่แล้ว แต่ขอให้การบินไทยมีแผนที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้แข่งขันได้ในระยะยาว
โชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า MRO เป็นโครงการสำคัญที่ต้องลงทุนในอีอีซี และจะทำให้เมืองการบินภาคตะวันออกสมบูรณ์ เนื่องจากสนามบินขนาดใหญ่จะต้องมีอุตสาหกรรมนี้ในสนามบินด้วย เพื่อรองรับการซ่อมอากาศยานที่มาใช้บริการสนามบินนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ การบินไทยได้แจ้งให้ สกพอ.ทราบถึงการที่แอร์บัสไม่เข้ามาลงทุนได้เพราะผลกระทบโควิด-19 และการบินไทยยืนยันว่าต้องการลงทุนต่อ เพราะเป็นโครงการที่สร้างกำไรได้ในอนาคต
นอกจากนี้ การบินไทยชี้แจง 3 แนวทางที่จะดำเนินการ คือ
1.การบินไทยลงทุนไปก่อนในส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ ซึ่งบริษัทแอร์บัสพร้อมสนับสนุนความรู้และเทคนิคให้
2.การบินไทยหาพันธมิตรรายใหม่มาลงทุน
3.รอเจรจากับบริษัทแอร์บัสอีกรอบหลังโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งแอร์บัสอาจมีความพร้อมมาร่วมลงทุนอีกครั้ง
“โครงการนี้สำคัญสำหรับสนามบินขนาดใหญ่ โดยช่วงแรกลงทุนสมาร์ทแฮงกาเป็นการลงทุนของกองทัพเรือ ส่วนอุปกรณ์ เครื่องจักรที่การบินไทยเป็นผู้ลงทุนหลักยังมีเวลาหาพันธมิตรร่วมลงทุน อาจเป็นกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ เช่น โบอิ้ง ซึ่งยังมีเวลาก่อนที่สนามบินเปิดบริการปี 2567”
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคงส่งเสริมต่อเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่จะเติบโตระยะยาว และกว่าสนามบินอู่ตะเภาจะเปิดบริการปี 2566-2567 เชื่อว่าโควิด-19 จะคลี่คลายมากแล้ว
รวมทั้งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินจะเริ่มฟื้นตัวปี 2564 โดยภายในครึ่งปี 2564 อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นได้ 50% และจากนั้นไตรมาส 3-4 การบินจะฟื้นได้ 70 - 80% ดังนั้นจะเดินหน้าสนับสนุนการบินต่อ
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การบินไทยและแอร์บัสหารือรายละเอียดของการร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภามา 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ติดปัญหาข้อกฎหมายร่วมทุน ที่แอร์บัสมองว่าไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แต่ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาเฟส 1 เป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้การบินไทยร่วมทุนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเปิดศูนย์ซ่อมเฟส 2 เพื่อเปิดให้เอกชนรายอื่นร่วมทุน
ดังนั้นขณะนี้การบินไทยก็ยังต้องรับหน้าที่ในการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานดังกล่าว อีกทั้งหากการบินไทยปฏิเสธการลงทุนส่วนนี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากการบินไทยจะต้องคืนพื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้กองทัพเรือเพื่อพัฒนาเมืองการบิน
ปัจจุบันกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้รับงบประมาณ 6,333 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่ ซึ่งกองทัพเรือเริ่มงานบางส่วนแล้ว เช่น งานก่อสร้างปปรับถมที่ดินสำหรับสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน งานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
ทั้งนี้ งานก่อสร้างปรับถมที่ดิน (ถมดิน) และส่วนที่เกี่ยวข้องสำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ได้ประกาศประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีราคากลางของงานก่อสร้าง 353 ล้านบาท
ขณะที่การจ้างก่อสร้างงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กองทัพเรือได้ใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 1,182 ล้านบาท โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนขอบเขตการรับผิดชอบโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงซ่อมอากาศยาน ตลอดจนโรงพ่นสี ส่วนการบินไทยและเอกชนที่จะมาร่วมทุนมีหน้าที่เพียงการลงทุนจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมซ่อมอากาศยาน โดยหลังจากเข้าบริหารจัดการแล้ว การบินไทยและเอกชนผู้ร่วมทุนต้องทยอยจ่ายเงินชดเชยค่าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคืนรัฐ