สธ. เตือนประชาชนระวังป่วยจาก 'โรคฮีทสโตรก' เหตุ ‘อุณหภูมิ’ ร้อนจัด
สธ. เตือนประชาชนป่วยจาก "โรคฮีทสโตรก" เหตุ "อุณหภูมิ" ร้อนจัดทั้งสัปดาห์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด "อุณหภูมิ" ตั้งแต่ 36-41 องศาเซลเซียส ในวันนี้ (7 พฤษภาคม 2563) บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส
จึงขอให้ประชาชนระวังการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือ "ฮีทสโตรก" (Heat Stroke) เกิดจากการทำกิจกรรมหรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ในช่วงอากาศร้อน ต้องใส่ใจดูแลทั้งตัวเองและคนรอบกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าอากาศร้อนจัดควรงดออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย วันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และไม่ควรดื่มสุราขณะอากาศร้อน” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนทุกปี เฉลี่ยปีละ 38 ราย โดยในช่วงฤดูร้อนปี 2562 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง 40 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตถึง 57 ราย มากที่สุดในเดือนเมษายน โดยอาชีพรับจ้างร้อยละ 23 คนเร่ร่อนร้อยละ 9 และเกษตรกรร้อยละ 7 ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร้อยละ 39 เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การดื่มสุราประจำร้อยละ 19 ทำกิจกรรมเสี่ยงกลางแจ้งร้อยละ 21
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ "ฮีทสโตรก" จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669