สรุปชัด! 'กรมส่งเสริมการเกษตร' ไขข้อข้องใจ 'ทะเบียนเกษตรกร'

สรุปชัด! 'กรมส่งเสริมการเกษตร' ไขข้อข้องใจ 'ทะเบียนเกษตรกร'

“กรมส่งเสริมการเกษตร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็น “ทะเบียนเกษตรกร” ที่มีการพูดถึงและค้นหาคำนี้จำนวนมาก ว่าคืออะไร ต้องปลูกพืชจำนวนเท่าใดถึงจะอยู่ในนิยามของการเป็นเกษตรกร ประกอบด้วยข้อมูลอะไร และวิธีการขึ้นทะเบียนอย่างไรบ้าง

ขณะนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 จนผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจโดยภาพรวม ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

หนึ่งในนั้นคือ "เกษตรกร" ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท เป็นการแจกเงินให้เกษตกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนว่าไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังมาก่อน เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน เป็นต้น โดยการทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตกรแล้ว และมีการปรับปรุงบัญชีเกษตรกรให้เป็นปี 2562/2563 ทั้งนี้ใครที่ยังไม่ได้อัพเดทข้อมูล หรือยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาก่อน แต่ทำอาชีพเกษตรกรรม จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 15 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมาเคลียร์ประเด็นคำถามเรื่องของ "ทะเบียนเกษตรกร" ให้ชัดเจน โดยมีรายละเอียดดังนี้

158885368674

  • ทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) คืออะไร?

ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรต้องมายื่นแบบ ทบก.01 เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามมาตรการของรัฐ

  • การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คืออะไร?

การแจ้งปลูกพืชทุกรอบการผลิต และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร เช่น เปลี่ยน / แก้ไข กิจกรรมการเกษตร หรือสมาชิกในครัวเรือน

  • เกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

บุคคลในครัวเรือนคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนที่ประกอบการเกษตร ฐานทะเบียนเกษตรกรกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน = 1 ครัวเรือน (ตั้งแต่ ..56 เป็นต้นมา) ต้องประกอบกิจกรรม ดังนี้

  1. การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
  2. การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป
  3. การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
  4. การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
  5. การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป
  6. การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
  7. การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป
  8. การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป
  9. การเลี้ยงสัตว์น้ํา หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
  10. การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
  11. การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
  12. การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน
  13. ประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กําหนดตาม 1.-12. และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 ต่อปีขึ้นไป

  • ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลอะไรบ้าง?

ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูล 9 หมวด ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมการเกษตร แหล่งน้ำ เครื่องจักรกลการเกษตร หนี้สิน รายได้ และการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ

  • การขึ้นทะเบียนเกษตรกรต้องทำอย่างไร?

ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน ขอขึ้นทะเบียนได้ 1 คน โดยต้องยื่นแบบ ทบก. 01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์

แต่สำหรับช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 (COVID-19) เกษตรกรสามารถไปยื่นขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่ผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวมรวบข้อมูลส่งให้สำนักงานเกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้แอพพลเคชั่น Farmbook ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่หรือแปลงใหม่ได้ 

  • เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกรอย่างไร?
  1. ตรวจสอบข้อมูลบุคคล กับกระทรวงมหาดไทย
  2. ตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กับกรมที่ดิน และ สปก.
  3. ตรวจสอบทางสังคมผ่านการติดประกาศข้อมูลในชุมชน หากมีการคัดค้าน มีคณะทำงานระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่วัดพิกัดที่ตั้งแปลง-วัดพื้นที่
  4. วาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล เพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน (ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 10 ล้านแปลง)

  • เมื่อใดต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร?

เมื่อมีการเพาะปลูกพืชทุกรอบ และเมื่อต้องการเปลี่ยนข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร จะต้องมีการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ทั้งนี้หากเป็นเกษตรกรายใหม่ แปลงใหม่ หรือรายเดิม แปลงใหม่ ต้องยื่นแบบ ทบก.01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม สามารถปรับปรุงผ่านแอพพลิเคชัน Farmbook ได้เลย 

  • สถานภาพในทะเบียนเกษตรกร จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
  1. เสียชีวิต
  2. เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  3. แจ้งยกเลิกประกอบการเกษตร
  4. แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
  5. ไม่มีการปรับปรุงสถานภาพเลย ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และมีผลย้อนหลังสำหรับผู้ไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560)

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากใครไม่แน่ใจว่ามีการขึ้นเบียนเกษตรกรไว้หรือไม่ หรือมีการปรุงปรุงบัญชีเกษตรกรแล้วหรือยัง สามารถเข้าไปการตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน ได้ที่เว็บไซต์ http://farmer.doae.go.th เพียงใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และคลิกค้นหา หากยังไม่ได้ปรับปรุงทะเบียนหรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องดำเนินการภายใน 15 พฤษภาคม 2563 นี้ เพื่อจะได้มีสิทธิ์เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร 15,000 บาท

ที่มา : MOACThailand