New Normal ป่าและทะเลไทย I Green Pulse

New Normal ป่าและทะเลไทย I Green Pulse

คลิปฉลามหูดำล่าสุดที่เกาะยูง ในบริเวณหมู่เกาะพีพี,โลมาปากขวดฝูงใหญ่กว่าร้อยตัวที่สิมิลัน, และข่าวการพบพะยูนที่บ้านเพ จังหวัดระยองในช่วงอาทิตย์นี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องของสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดที่เป็นสัตว์หายากและแทบไม่เคยพบในพื้นที่

นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง ซึ่งนั่นหมายถึงการหยุดการรบกวนสัตว์ต่างๆไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปรากฏตัวของสัตว์ป่าหายากต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเล กำลังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ธรรมชาติต้องการ และการจัดระเบียบกิจกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องใหม่ไม่ต่างจากกิจกรรมประเภทอื่นๆ หรือ New Normal ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผู้จัดทำนโยบายหลายคณะได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องการเพียงการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังให้เห็นผล ดังที่กำลังปรากฏจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในขณะนี้

158908722268

พาเหรดสัตว์ป่า

นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา การรายงานการพบเห็นสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆทั่วประเทศที่ปิดตัวลง โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลมีมากขึ้น ซึ่งปลาฉลามหูดำ นอกจากจะพบที่เกาะยงแล้ว ยังปรากฏตัวตามบริเวณน้ำตื้นที่เกาะห้อง ไปจนถึงเกาะสุรินทร์และเกาะตาชัยอีกด้วยในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมานี้อีกด้วย

นอกจากปลาฉลามหูดำแล้ว ยังมีปลาวาฬเพชรฆาตดำในบริเวณอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ซึ่ง ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ไม่มีการรายงานการพบเห็นมานาน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้รายงานว่า ในปลายเดือนเมษายน ขณะนั่งเรือออกไปลาดตระเวนตามปกติ ได้พบเจอฝูงวาฬเพชฌฆาตดำฝูงใหญ่ 10-15 ตัว ความยาวประมาณ 3-4 เมตร ว่ายน้ำบริเวณอ่าวหินงาม เกาะรอก ในเขตอุทยานฯ ห่างจากฝั่งเพียง 400 เมตร โดยถือว่าเป็นฝูงใหญ่ และเป็นครั้งแรกที่มีการพบเจอวาฬเพชฌฆาตดำนี้ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลไม่น้อยไปกว่ากันคือ การปรากฏตัวของพะยูนในบริเวณบ้านเพ จังหวัดระยองในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา โดย ดร.ธรณ์ อธิบายว่า พะยูนในภาคตะวันออกมีเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ กระจายกันไป และแทบไม่มีใครพบเห็นมานานพอสมควร จากประชากรทั้งหมดที่สำรวจพบในปีที่แล้ว 261 ตัว ในพื้นที่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย 13 พื้นที่

มีเพียงราว 24 ตัวที่พบในอ่าวไทย โดยอยู่ในพื้นที่ืทะเลภาคตะวันออกประมาณ 20 ตัว และอีก 4 ตัวที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี บางพื้นที่ของฝั่งอ่าวไทย ไม่มีรายงานการพบพะยูนอีกแล้ว เช่น ปัตตานี และชุมพร แม้จะเคยมีรายงานในอดีต โดยสมัยอดีตย้อนไปประมาณ 60ปีที่แล้ว แหล่งที่ใหญ่ที่สุดของพะยูนภาคตะวันออกคือ คุ้งกระเบน โดยมีรายงานการพบถึง 40 ตัวขึ้นไป และในช่วง 20-30 ปีต่อมาก็ยังพอพบแหล่งพบพะยูนมากอยู่คือ ปากน้ำประแสร์ จังหวัด ระยอง ซึ่งมีการพบพะยูนฝูงใหญ่กว่า 20 ตัวว่ายอยู่ในบริเวณดังกล่าว

“เมื่อเรือหยุด พะยูนจึงกลับมาหากินหญ้าทะเลตามชายฝั่ง เช่น แถวบ้านเพ ก็มีหญ้าทะเลอยู่บ้าง” ดร. ธรณ์ ตั้งข้อสังเกต

ในพื้นที่ที่มีประชากรพะยูนมากที่สุดในประเทศเองอย่างอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพะยูนลูกกำพร้าที่เป็นที่รักของผู้คนคือมาเรียม พะยูนฝูงใหญ่ที่ไม่ค่อยถูกพบเห็นก็ปรากฏตัวขึ้นเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ฯ พบพะยูนฝูงใหญ่กว่า 30 ตัว ออกหากินหญ้าทะเลบริเวณแหลมจูโหย ในขณะที่เขาบาตูที่มาเรียมเคยถูดอนุบาลอยู่ก็พบฝูงพะยูน5-6 ตัวเป็นประจำในช่วงนี้ กลุ่มพิทักษ์ดูหยง ซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลพะยูนรายงาน

นอกจากปลาทะเลหายากชนิดต่างๆ เต่ามะเฟืองซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยก็พบมีการขึ้นมาวางไข่และทำรังมากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยมีการพบถึง 11 รัง ตามหาดต่างๆ ของฝั่งอันดามันซึ่งครั้งหนึ่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว อาทิ หาดบ่อดาน หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หรือหาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว หาดในทอน จังหวัดภูเก็ต

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ช่วงที่ผ่านมาว่า ลูกเต่ามะเฟืองจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงกับช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วประเทศ โดยลูกเต่าเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูอื่น ในรอบกว่า2ทศวรรษ

ทางกรมฯ ยังไม่ได้เก็บข้อมูลที่ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดและระบบนิเวศทางทะเลหลังจากเกิดการระบาดฯ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่โดยหลักการแล้วปริมาณนักท่องเที่ยวที่น้อยลง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งน้อยลง น้ำเน่าเสีย ของเสีย และขยะต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย จึงมีโอกาสที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากได้พักและฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

“การลดลงของนักท่องเที่ยวน่าจะมีผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเล,” นายโสภณกล่าว

158908725711

158908728894

New Normal ด้านอนุรักษ์

ดร.ธรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้าน ทส.กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดช่วงหยุดพักของพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ น่าจะเป็นโอกาสที่ดำเนินการสิ่งที่เขาเรียกว่า “แผน 5 ขั้น” ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานที่ได้วางนโยบายและแผนมาแล้ว

ดร.ธรณ์แนะนำให้หน่วยงาน “การ์ดอย่าตก” ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งอาจยิ่งจำเป็นที่จะต้องให้มีความเข้มงวดมากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการดูแล และที่สำคัญ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ไม่ควรมีการดึงงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์โควิด เพราะพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้คือพื้นที่ที่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวจากการที่ต้องปิดตัวมากพออยู่แล้ว และควรได้รับการสนับสนุนทดแทนรายได้เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงาน

ดร.ธรณ์ ชี้ว่า สถานการณ์โควิดทำให้เกิดสภาพการณ์ที่สะท้อนหลักการสำคัญในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติ คือการจำกัดการรบกวน เช่นการจำกัดจำนวนคนและการรักษาระยะห่าง ซึ่งแผนต่างได้ระบุไว้เช่นกัน อาทิ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและยานพาหนะต่างๆในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งยังมีการบังคับใช้น้อยมากในความเป็นจริง

ในจำนวนพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล 26 แห่ง มีเพียงไม่กี่แห่งที่บังคับใช้หลักการ “ความสามารถในการรองรับ” หรือ carrying capacity ของพื้นที่, ดร. ธรณ์กล่าว

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้แผนถูกนำไปปฏิบัติได้จริงตามเงื่อนไขของพื้นที่จริง และนั่นหมายถึง การเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยทำแผนในพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับแผนระดับชาติและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งเป็น แผนขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 ที่เขาเสนอสำหรับ New Normal ของพื้นที่อนุรักษ์

และแผนขั้นที่ 5 คือ การผลักดันแผนงานใหญ่ๆที่ครอบคลุมภาพรวมของพื้นที่ อาทิ โครงการอันดามันมรดกโลกที่ถูกออกแบบและผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อกำกับทิศทางงานอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในภาพรวมอย่างจริงจังเสียที

“คีย์เวิร์ดเหล่านี้แหละจะช่วยได้ แต่มันก็ขึ้นกับความเป็นจริงว่าเราอยากเดินไปข้างหน้าไหม ผู้รับผิดชอบหรือผู้เกี่ยวข้อง อยากเห็นโลกใหม่ๆ หรือเปล่า

“บอกว่า รัก แค่นั้นไม่พอ อยาก แค่นั้นไม่ไปไหน เราต้องลงมือทำ” ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายถึงการทำงานอนุรักษ์หลังยุคโควิด หรือ New Normal ด้านอนุรักษ์จากนี้ไป

158908735488

ภาพ/ สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายากปรากฎตัวตามพื้นที่ต่างๆที่ปิดตัวในช่วงการระบาดของโรคโควิด/ อส.