อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ 'โตขึ้นแต่ไม่สุด' ผลิตสะดุดสวนดีมานด์พุ่ง
อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ รับโควิดกระทบ ซัพพลายเชนสะดุด ชี้ไทยต้องพึ่งวัตถุดิบหลายประเทศ เผยมีความพยายามเข้าไปชี้แจงถึงความสำคัญในประเทศที่มีปัญหา ขอปรับมาตรการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘เวิร์คฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ ดีมานด์อุปกรณ์การแพทย์’ หนุนอิเล็กฯไตรมาสแรกโต
‘ไทย’ยึดศูนย์กลางฮาร์ดดิสก์โลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ของโลก โดยผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ 2 รายใหญ่ทั้ง ซีเกท และ เวสเทิร์น ดิจิตอล หรือ ดับบลิวดี ต่างย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะดับบลิวดี ปิดโรงงานทุกประเทศมาอยู่ไทยทั้งหมด ปัจจุบันดับบลิวดียึดฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ในไทยแล้ว 100% และยังคงเดินกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ภาพรวมของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ยังคงเติบโตได้ดี เพราะถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องด้วยสิ่งต่างๆ ล้วนต้องมีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ขณะที่ เทคโนโลยีสตอเรจเก็บข้อมูล(Storage) ทั้งฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และโซลิด สเตท ไดร์ฟ (SSD)กำลังมีความต้องการที่สูงมากในตลาด
5จี-ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มหนุนตลาดโต
ทั้งนี้ ภาพรวมอิเล็กทรอนิกส์ 3 ปีจากนี้ ในส่วนของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่มีความจุสูง ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน คลาวด์ คอมพิวติ้ง และดาต้าเซ็นเตอร์ ในการจัดการกับบิ๊กดาต้า ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเทรนด์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่เป็นแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นตัวผลักดันให้ภาคเทคโนโลยีทุกส่วนมีการเติบโตตาม
“กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จริงๆ ได้รับผลกระทบแต่ไม่มากนัก และบางสินค้ากลับได้รับผลบวก เช่น กลุ่มฮาร์ดดิสก์ เนื่องจากนโยบาย Social Distancing ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ใช้มีการใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อเชื่อมโดยเฉพาะพรินเตอร์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกขยายตัวสูง รวมถึงมีการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คือ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัว 5.60% โดยเฉพาะแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBA/PWB) เนื่องจากตลาดโลกเริ่มมีความต้องการ หลังจากผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมมาหลายปี
ขณะที่แผงวงจรไอซี (IC) ในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าปริมาณการผลิตไอซี มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยคาดว่าเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม 5จี ที่จะถูกพัฒนาและแพร่หลายอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5จี ทั่วโลกที่จะมีเพิ่ม ผลักดันสู่การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ได้เร็วขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไอซีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
คลายล็อกดาวน์หนุนความต้องการเพิ่ม
นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์สำหรับบางสถานประกอบการ ทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มกลับมาประกอบการและทำการผลิตได้ตามปกติ ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์ ยังเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากนโยบายล็อกดาวน์ ทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามปัจจัยลบที่มาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจหดตัว และส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสินค้า ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า และราคาน้ำมันที่ผันผวน