เล็งยื่นศาลสหรัฐฟื้น 'การบินไทย' พึ่ง Chapter 11 กฎหมายล้มละลาย
“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะถกแผนฟื้นฟูการบินไทยไร้ข้อสรุป ชี้ค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาทสะดุด คาดชงแผนฟื้นฟูเข้า ครม.ปลาย พ.ค.“คมนาคม”เผยข้อเสนอยื่นศาลล้มละลาย ชี้เข้าเงื่อนไขยื่นศาลสหรัฐ หลังมีหนี้ต่างประเทศ 49%
กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งจัดทำแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าแผนฟื้นฟู เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2563 ร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
รวมทั้งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจักรกฤศฏ์ พาราพันธกล รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย เข้าร่วม ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าร่วม
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายอุตตมไม่ได้เข้าร่วมเพราะรอให้กระทรวงคมนาคมทำแผนให้เรียบร้อยก่อนมาพิจารณาด้านการเงินที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ โดยการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะเสนอแผนฟื้นฟูการบินไทยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการบินไทยจะพิจารณายื่นศาลล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะยื่นต่อศาลล้มละลายในไทยหรือสหรัฐก็แต่ แต่กรณีการบินไทยจะพิจารณายื่นต่อศาลล้มละลายสหรัฐ เพราะการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างประเทศในสัดส่วน 49% และจะทำให้เข้าสู่ Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ
สำหรับขั้นตอนดังกล่าวเรียกอีกชื่อว่า “reorganization bankruptcy” ใช้สำหรับธุรกิจที่ยังคงต้องการดำเนินกิจการต่อไป และจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในผ่าตัดองค์กร รวมถึงระบบการเงินที่ต้องจ่ายเจ้าหนี้ตามลำดับ การเข้าสู่กระบวนการนี้จะยื่นไปที่ศาลล้มละลายโดยผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือเจ้าหนี้ที่มากกว่า 3 รายขึ้นไปก็ได้
เมื่อยื่นแล้ว เจ้าหนี้การค้าจะไม่สามารถเรียกร้องการชำระหนี้ใดๆได้เลยเป็นระยะเวลาชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลา 4 เดือนในการทำแผนฟื้นฟู และสามารถขยายระยะเวลาไปถึงสูงสุดถึง 18 เดือนซึ่งเจ้าหนี้จะเสนอแผนเข้าไปได้ หากเจ้าของกิจการไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายของการเสนอแผนฟื้นฟูตามเวลาที่กำหนดไว้ แผนของกิจการนั้นๆ พื้นฐานจะกล่าวถึงเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่จะตกลงกันว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร รวมไปถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญา
โดยระดับของเจ้าหนี้จะถูกจัดเป็น 3 ระดับ คือ
1.Priority
2.Secured (พวกเช่าซื้อ สัญญาเช่า)
3.Unsecured (เงินเกินบัญชี หรือ พวกเครดิต)
ในกรณีที่แผนถูกตีกลับ เจ้าของธุรกิจสามารถขอให้ “cram down” คือให้ศาลบังคับให้เจ้าหนี้ยอมรับแผน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การยัดเยียดแผนให้เจ้าหนี้นั่นเอง
ในกรณีนี้ไม่มีการระบุระยะเวลาชัดเจนในการดำนเนินการตามแผนฟื้นฟู แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 6 เดือน – 2 ปี
กล่าวโดยสรุปข้อดีของ Chapter 11 ได้เแก่ 1.ทำให้บริษัทได้รับโอกาสเริ่มกิจการใหม่ 2.ได้รับการระงับบังคับชำระหนี้ 3.ได้รับโอกาสในการปฏิเสธสัญญาหรือสัญยาเช่าที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร 4.การใช้ใช้มติของเจ้าหนี้ส่วนมากผูกพันเจ้าหนี้ส่วนน้อย 5.การให้สิทธิบริษัทในการโอนขายธุรกิจบางส่วน 6.Chapter 11 เป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่นมาก และ 7.ได้รับข้อยกเว้นจากกฎหมายหลักทรัพย์
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การหารือครั้งนี้ได้พิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของการบินไทยที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการบินไทยทำร่วมกัน โดยพบว่าแผนฟื้นฟูยังมีปัญหาอยู่มาก และภายในที่ประชุมยังมีความเห็นด้วยว่า การกู้เงินจากกระทรวงการคลัง วงเงิน 5 หมื่นล้าน อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวระบุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการศาล โดยอาจยื่นเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้การบินไทยเริ่มฟื้นฟูธุรกิจโดยปราศจากภาระใช้หนี้สินที่เป็นปัญหาผูกมัดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมทั้งยังพิจารณาถึงขั้นตอนการบังคับคดีว่าจะมีเงื่อนไขหรือรูปแบบใด
“อนุทิน”ชี้ค้ำประกันเงินกู้มีปัญหา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งต้องรอหารือให้ครบถ้วนหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าร่วม ตอนนี้ยังพูดรายละเอียดไม่ได้ และต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบก่อน
“ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางออก จะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และเป็นไปตามกระบวนการเพราะต้องเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน ผมพูดแทนไม่ได้”
นายอนุทิน ตอบคำถามประเด็นการกู้เงินของการบินไทยว่า การค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พูดถึง ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจทำไม่ได้ แต่ยังไม่ได้ตัดประเด็นนี้ทิ้ง
ชง ครม.ไม่ทันสัปดาห์หน้า
นายจักรกฤศฏ์ พาราพันธกุล รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าประชุมด้วย จึงเป็นการหารือกันเองภายในกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะประเด็นปัญหาของการบินไทยที่มีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายในสังคมโซเชียล
ส่วนการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทย เบื้องต้นอาจนำเสนอ ครม.ไม่ทันสัปดาห์หน้า เพราะต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาเพื่อแก้ปัญหา 23 จุดเสี่ยงให้หมดก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนประเด็นที่การบินไทยจะเข้าสู่ขั้นตอนการล้มละลายหรือไม่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องเป็นการตัดสินใจของระดับสูงเท่านั้น