พลาสมา-แอนติบอดี-วัคซีน สู้ ‘COVID-19’ ต่างกันยังไง?
ชวนรู้จัก 3 สิ่งทางการแพทย์ที่เป็นความหวังในการผลิตยารักษาโรค “โควิด-19” อย่าง “พลาสมา” “แอนติบอดี” “วัคซีน” มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร พร้อมอัพเดทความคืบหน้าการพัฒนายาต้าน COVID-19 ในประเทศต่างๆ ว่าทำไปถึงไหนแล้ว?
จากวันนั้นถึงวันนี้ผู้คนทั่วโลกต่างก็เผชิญกับวิกฤติโรคระบาด “COVID-19” มายาวนานร่วม 5 เดือนแล้ว บางประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ดี แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่การระบาดแพร่กระจายไม่หยุดและพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนบางประเทศที่เคยควบคุมการระบาดได้ แต่วันดีคืนดีก็กลับมาระบาดซ้ำอีก!
เห็นได้ชัดว่าโรคระบาด “โควิด-19” ไม่มีท่าทีว่าจะ ลง มีเพียงการควบคุมให้ไม่ระบาดไปในวงกว้างขึ้นเท่านั้น ความหวังหนึ่งเดียวที่จะทำให้โรคระบาดนี้หายไปจากโลกนี้ได้ จึงอยู่ที่ “ยาต้านโควิด” หรือ “ยารักษาโควิด” ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเร่งศึกษา ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตออกมาให้ได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามี 3 สิ่งทางการแพทย์ที่ทั่วโลกกำลังนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโควิด-19 นั่นคือ “พลาสมา” “แอนติบอดี” และ “วัคซีน”
ว่าแต่... ทั้ง 3 อย่างนี้มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง? ชวนมาหาคำตอบนี้ไปด้วยกัน พร้อมอัพเดทความคืบหน้าว่านานาประเทศที่กำลังพัฒนายาต้าน COVID-19 ทำไปถึงไหนแล้ว?
1. “พลาสมา” หรือน้ำเหลืองที่อยู่ในเลือด
น้ำเลือด (plasma) เป็นส่วนที่เป็นของเหลวของเลือดทั้งหมด มี สีเหลืองอ่อน ค่อนข้างใส มีปริมาณ 55% ของปริมาตรเลือด ทั้งหมด (ส่วนประกอบหลักๆ ของเลือดคือ 1.พลาสมา 2.เกล็ดเลือด) โดยภายในพลาสมานี้มีส่วนประกอบแยกย่อยลงไปอีก ได้แก่
- น้ำ เป็นส่วนประกอบหลักที่มีอยู่มากถึง 90%
- โปรตีน ที่ช่วยควบคุมความดันและความสมดุล ได้แก่ albumin globulin และ fibrinogen
- โปรตีน ที่ช่วยควบคุมและป้องกันสิ่งแปลกปลอม ได้แก่ แอนติบอดี (antibody), ฮอร์โมน และเอนไซม์
- สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ และก๊าซต่างๆ เช่น NaCl, Ca, K, Bicabonate, ยูเรีย, กรดยูริก, แอมโมเนีย, กรดอะมิโน กลูโคส, ไขมัน, ออกซิเจน, คาร์บอนไดออกไซด์
ภาพจาก: https://www.trueplookpanya.com
2. “แอนติบอดี” สารโปรตีนดักจับเชื้อโรค
แอนติบอดี คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเซลล์พลาสมา (plasma) เป็นโปรตีนที่ใช้สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งจะผลิตจากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลิมโฟซัยท์บี โดยปกติแอนติบอดีจะใช้เวลาผลิตประมาณ 7-10 วัน หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เพื่อให้ร่างกายฆ่าเชื้อโรคนั้นได้เอง
แต่ถ้าเชื้อโรคมีมากและก่อให้เกิดอาการรุนแรงและรวดเร็ว จนร่างกายสร้างแอนติบอดีไม่ทัน ก็อาจจะต้องใช้ยาช่วยเพื่อรักษาให้หาย โดยการนำแอนติบอดีมาใช้พัฒนาเป็นยารักษาก็ทำในลักษณะเดียวกันกับพลาสมา เพราะแอนติบอดีเป็นส่วนหนึ่งของพลาสมานั่นเอง
3. “วัคซีน” ผลิตจากเชื้อโรคที่ตายแล้ว!
วัคซีน คือ สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อโรค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้วมีสารของเชื้อโรคมาฉีดเข้าตัวเรา และทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ ทำให้มันสลบ พิษก็จะไม่รุนแรง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายคนเรา ร่างกายเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ ได้ แต่การจะทำวัคซีนสำหรับป้องกันและรักษาโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19 ต้องใช้เวลาวิจัยและทดลองเป็นเวลานาน ต้องทดลองซ้ำๆ จนกว่าจะพบว่ามีความปลอดภัยกับมนุษย์จริงๆ
- อัพเดท! ความคืบหน้ายารักษาโควิดจาก “พลาสมา”
สำหรับการนำพลาสมามาผลิตเป็น “ยารักษาโควิด” นั้น พบว่ามีการเริ่มนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้ว ทั้งในประเทศจีน และประเทศไทย สำหรับในประเทศจีนนั้นพบว่าคณะแพทย์จีนสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่มีอาการระดับวิกฤติจำนวน 5 คน ให้หายออกจากโรงพยาบาลได้ โดยใช้ “พลาสมา” หรือน้ำเลือดของคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในน้ำเลือดดังกล่าวมีโปรตีนภูมิคุ้มกัน
เมื่อนำพลาสมาที่มีภูมิคุ้มกันแล้วมาใช้การรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คน ที่โรงพยาบาลในเมืองเสิ่นเจิ้น พบว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนหายดีในที่สุด ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาด้วยพลาสมาของอดีตคนไข้โรคเดียวกันจนหายดีแล้ว ผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คนได้บริจาคพลาสมาให้แก่โรงพยาบาลด้วยความสมัครใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไปด้วย
ส่วนในประเทศไทยนั้น พบว่ามีการศึกษาและทดลองใช้ “พลาสมา” มาใช้รักษาโควิด-19 เช่นกัน โดย นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความอธิบายถึงพลาสมาไว้ว่า การใช้พลาสมาหรือน้ำเหลืองของผู้ที่หายจากโรค มาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากจากการติดเชื้อเดียวกัน ได้มีการทำกันมานานแล้วในการระบาดของโรคเกิดใหม่ เช่น สมัย SARS, MERS, Ebola และพบว่ามีการนำมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤติในประเทศจีน ซึ่งได้ผลดีในการรักษา
ต่อมาในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์เพื่อตั้งทีมวิจัยการสกัด “พลาสมา” จากเลือดผู้ป่วยที่หายแล้ว เพื่อนำมาวิจัยเพื่อหาวิธีการรักษาผู้ป่วยรายอื่น เนื่องจากตามหลักการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นผู้ป่วยที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อนำมาสกัดพลาสมาจะใช้รักษาโรคได้ และอยากขอบริจาคเลือดจากผู้ป่วยที่หายแล้วในช่วงเวลา 15-30 วัน เพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป โดยสามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2263 9600-99 หรือลงทะบียนออนไลน์บริจาคพลาสมา ได้ที่ https://bit.ly/2K6cIL6 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2256 4300
ล่าสุด.. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ประสบความสำเร็จรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย “พลาสมา” ของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว จนผู้ป่วยที่รักษาด้วยพลาสมามีความแข็งแรงและออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านได้ ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกของภาคใต้ที่ใช้พลาสมารักษา โดย รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ม.อ. ระบุว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการติดเชื้อที่ปอดอย่างหนัก โดยทางทีมแพทย์ได้รักษาด้วยการให้พลาสมา 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น 3-4 วัน อาการผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้นตามลำดับ สัญญาณชีพกลับมาเป็นปกติ หายใจเองได้ ค่าการอักเสบในเลือดลดลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- พลาสมาของผู้ป่วย Covid-19 ที่หายแล้ว มีประโยชน์อย่างไร
- มีความหวัง! จีนใช้ ‘พลาสมา’ อดีตคนไข้โควิดรักษาคนไข้อาการวิกฤติหาย
- 'พลาสมา' คืออะไร? มีความสำคัญยังไงกับการรักษา 'โควิด-19'
- สภากาชาดไทย ประกาศชวนผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 บริจาคพลาสมา
ภาพจาก: https://www.facebook.com/hospsu
- ความคืบหน้ายารักษาโควิดจาก “แอนติบอดี”
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการใช้ “แอนติบอดี” มาพัฒนาเป็นยารักษาโรคโควิด-19 นั้น มีการศึกษาวิจัยและทดลองทำในลักษณะเดียวกันกับ “พลาสมา” เพราะแอนติบอดีคือโปรตีนที่อยู่ในพลาสมานั่นเอง โดยมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เบลเยียม เป็นต้น
เริ่มจากเคสในประเทศญซี่ปุ่น นางจูลี คิม ประธานแผนกบำบัดด้วยกระบวนการแยกสกัดพลาสมาของบริษัท ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคอล ของญี่ปุ่น ได้ออกมาแถลงว่าบริษัทสามารถเริ่มการทดสอบยาที่สกัดจาก “แอนติบอดี” หรือโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 อย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ค. นี้ โดยได้เริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงแล้ว แต่คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสำเร็จ หากการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมาย ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคอล อาจยื่นขอใบอนุญาตต่อทางการสหรัฐอเมริกาภายในปีนี้ เพื่อเร่งนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อ
อีกหนึ่งเคสจากประเทศเบลเยียม โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียม และสถาบันวิจัยหลายแห่งในสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Cell ว่า ได้ค้นพบสารภูมิคุ้มกันหรือ “แอนติบอดี” ของลามะ ซึ่งเคยใช้ยับยั้งการก่อโรคและลบล้างฤทธิ์ของไวรัสได้ผลมาแล้วหลายชนิด ทั้งกับไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งมีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในการป้องกันและกำจัดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอเกิดโรคโควิด-19 ได้
งานวิจัยนี้ระบุอีกว่า “แอนติบอดี” ของลามะ มีขนาดเล็กกว่าของมนุษย์มาก จึงสามารถเข้าจับกับตัวรับบนหนามของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างละเอียดทั่วถึง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้สูงกว่า อีกทั้งทีมนักวิจัยได้นำแอนติบอดีของลามะเป็นต้นแบบวัคซีนสังเคราะห์ พบว่าสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายได้ทันที ซึ่งต่างกับวัคซีนทั่วไปที่ต้องรอราว 1-2 เดือน โดยจะนำแอนติบอดี้นี้เริ่มทดลองรักษาในผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ความคืบหน้ายารักษาโควิดจาก “วัคซีน”
ส่วนการผลิตวัคซีนที่จะนำมาใช้ป้องกันและควบคุมการระบาดของ "โควิด-19" นั้น มีหลายประเทศได้เริ่มศึกษาวิจัยและผลิตวัคซีนกันแล้วทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศจีน โดยเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายชื่อทีมวิจัยวัคซีนอย่างเป็นทางการ ว่ามี 70 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน และมี 3 บริษัทที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ ได้แก่
1. บริษัทโมเดอร์นา สัญชาติสหรัฐ 2.บริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล สัญชาติจีน และ3.บริษัทอิโนวิโอ สัญชาติสหรัฐ ส่วนบริษัทที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาทดสอบในสัตว์ หรือทดสอบในสัตว์เสร็จแล้ว ซึ่งน่าจะทยอยประกาศเข้าทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ตามมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานอัพเดทความคืบหน้าว่า มีหลายชาติพยายามเร่งพัฒนาวัคซีนต้าน โควิด-19 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ต้องรอถึงปีหน้ากว่าที่โลกจะมีวัคซีนมาใช้รักษาโรคนี้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีวัคซีนต้นแบบ 8 ตัวที่อยู่ในขั้นการทดสอบทางคลินิก เช่น วัคซีนของบริษัทแคนชิโน ไบโอโลจิกส์ อิงค์ของจีน ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง กำลังทดสอบทางคลินิกเฟส 1 และเฟส 2 เป็นการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี เฟสนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 108 คน ซึ่งการทดสอบเฟส 1 และ 2 จะดำเนินการไปควบคู่กัน
และ วัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ปัจจุบันเข้าสู่เฟส 1/2 ทำการทดสอบในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี 1,100 คนอายุ 18-55 ปี สุ่มรับวัคซีน และเริ่มประเมินและศึกษาวัคซีนในมนุษย์ เป็นต้น
ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานอัพเดทความคืบหน้าอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแข่งขันกันพัฒนาและค้นคว้ายาต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 4.5 ล้านคนทั่วโลก ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมียาที่ได้รับอนุมัติแล้ว ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับหยั้งต่อโรคระบบทางเดินหายใจ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาวัคซีน เพื่อรักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน
ล่าสุดเมื่อ วันที่ 19 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (ดับเบิลบูเอชเอ) ครั้งที่ 73 ว่า เมื่อจีนสำเร็จในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และประยุกต์ใช้ในจีนแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก (International Public Product) จีนยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงในการใช้วัคซีนและใช้จ่ายรับซื้อได้ โดยจีนจะจัดเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่นานาประเทศภายใน 2 ปี เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :