'นายก' แจง 'ประชุมสภา' จำเป็นออก พ.ร.ก.1.9 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจพิษโควิด-19

'นายก' แจง 'ประชุมสภา' จำเป็นออก พ.ร.ก.1.9 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจพิษโควิด-19

"นายก" ชี้แจงกลางที่ "ประชุมสภา" จำเป็นออก พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจพิษโควิด พร้อมแจงการใช้เงินต่อสภา

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 63 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาพระราชกำหนดตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่1พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ฉบับที่2พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563 ฉบับที่3 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ ฉบับที่ 4พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า สภาฯ จะมีการพิจารณา 5 วันจนถึงวันที่ 31 พ.ค. กำหนดเวลาจะเริ่มตั้งแต่ 09.30-20.00 น.ของในแต่ละวัน กรอบเวลาการอภิปรายของแต่ละฝ่ายนั้นฝ่ายรัฐบาลรวมได้ 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและครม.ฝ่ายละ 12 ชม. ฝ่ายค้าน 24 ชั่วโมง หากฝ่ายใดประท้วงจะหักเวลาของฝ่ายนั้นไป ทั้งนี้ วันที่ 31 พ.ค. เวลาประมาณ 15.00 น. จะลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับแรก และพิจารณาพระราชกำหนดฉบับสุดท้ายให้เสร็จก่อนเวลา 20.00 น.ต่อไป

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า แนวทางการอภิปรายนั้น ส.ส.จะพิจารณาพระราชกำหนดใดแล้วจะต้องมีการเชื่อมโยงไปถึงพระราชกำหนดก็สามารถกระทำได้ โดย ส.ส.จะอภิปรายได้แค่ครั้งเดียว 

นายกฯ พร้อมแจงการใช้เงินต่อสภาภายใน 60 วัน

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอพระราชกำหนด3ฉบับแรก โดยนายกฯได้อธิบายต่อที่ประชุมสภาฯทีละฉบับว่า การเสนอพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เป็นผลมาจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19อย่างรุนแรงและยังไม่มียารักษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยต่อประชาชนอย่างเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงต้องดำเนินการต่างๆเพื่อควบคุมการระบาด ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงและรวดเร็ว โดยไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.8% โดยภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด มีผลกระทบต่อรายได้ของประเทศลดลงถึง 9.28 แสนล้านบาท โดยไตรมาสสองจะปรับตัวลดลงรุนแรงมากขึ้น 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลจะได้พยายามดำเนินการตามกรอบงบประมาณปัจจุบันและปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันกับสถานการณ์เพื่อเยียวยาประชาชน ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวประชาชนและสร้างระบบสาธารณสุขให้มีความเชื่อมั่น การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 1ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์ของสาธารณะและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

 

ยืนยันหนี้สาธารณะไม่ชนเพดาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยต่อการรักษาวินัยการเงินและความโปร่งใส 1.ให้กระทรวงคลังโดยครม.มีอำนาจกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 2.ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในพระราชกำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจปรับแก้การใช้เงินได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการ 4.การดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดจะเป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ 5.กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานการใช้เงินเสนอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยในรายงานจะต้องครอบคลุมทั้งการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้เงิน และผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณ

"ในการตราพระราชกำหนดปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อสถานะการชำระหนี้ของประเทศ การกู้เงินในวงเงิน 1ล้านล้านบาทรวมกับการกู้เงินในกรณีอื่นแล้วจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือนก.ย.ปี 2564 หนี้สาธารณะจะมีสัดส่วน 57.96 %ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบ 60% ตามกฎหมาย โดยการกู้เงินจะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับปริมาณเงินในระบบของตลาดการเงินภายในประเทศ ส่วนการชำระหนี้นั้นกระทรวงการคลังได้วางแผนเป็นระบบเพื่อกระจายความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปรงใส รัฐบาลจึงได้กำหนดกระบวนการกลั่นกรองโครงการผ่านกลไกต่างๆที่จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้พระราชกำหนดเท่านั้น" 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสร้างระบบสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบต่อไป

\'นายก\' แจง \'ประชุมสภา\' จำเป็นออก พ.ร.ก.1.9 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจพิษโควิด-19


ระบุรัฐบาลไม่ได้กู้เงินอุ้มเอสเอ็มอี

ส่วนพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563 หรือ พระราชกำหนดSoft Loan นายกฯ กล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อเพิ่มเติมเสริมสภาพคลอ่ง ชะลอการชำระหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบวิสาหกิจที่คาดว่าจะลดลงอย่างรุนแรง และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจเกิดภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้และอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทำหน้าที่ด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน

"การดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ได้เป็นกู้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเป็นการชั่วคราวให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ส่วนที่รัฐบาลต้องรับภาระมีเฉพาะดอกเบี้ย Soft Loan ในช่วง 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ชดเชยให้แก่สถาบันการเงินหากลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งได้ออกแบบให้สถาบันการเงินต้องรับภาระความเสียหายบางส่วนด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินคัดกรองลูกหนี้ในระดับหนึ่ง"


"จะช่วยให้ผู้ประกอบการSMEดำเนินกิจการต่อไปได้ รักษาการจ้างงานทำให้ไม่เกิดผลกระทบเป็นลูกโว่ต่อผู้ประกอบการรายอื่น ไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างจนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน และพระราชกำหนดฉบับนี้จะเป็นการรักษาศักยภาพของเครื่องทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้หลังจากสถานการณ์คลี่คลายขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จากนั้น เป็นการเสนอพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 หรือพระราชกำหนด BSF (Corporate Bond Stabilization Fund) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มีความประสงค์เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้และรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนสภาพคล่องด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และมีคณะกรรมการกำกับกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน แนวคิดและประโยชน์ของตราสารหนี้นั้นในระยะ2ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กว่า 9.8 แสนล้านบาท และยังเป็นแหล่งออมที่สำคัญของภาคประชาชนมากถึง 83% โดยเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดทำให้นักลงทุนต้องการถือเงินสดเอาไว้ให้มากที่สุด ทำให้เกิดการเทขายตราสารหนี้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้ออมและทำให้ต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้นอีก และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง ด้วยเหตุผลนี้ภาครัฐจึงต้องเร่งดูแลตลาดตราสารหนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเงินโดยรวม

นายกฯ กล่าวว่า การดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อรักษาสภาพคล่องระบบทางการเงิน โดยการช่วยเหลือต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอกับขนาดของตลาดตราสารหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะเป็นกลไกชั่วคราว ที่สำคัญมีกลไกและบริหารควบคุมความเสี่ยงที่จะลงทุนได้เฉพาะการลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น และถูกออกแบบให้วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะสั้นเท่านั้น ถึงที่สุดแล้วการดำเนินงานของกองทุนต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
 

\'นายก\' แจง \'ประชุมสภา\' จำเป็นออก พ.ร.ก.1.9 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจพิษโควิด-19