'ลูกเนียง' มีพิษ! แล้ว 'สะตอ' และ 'ลูกเหรียง' ทานได้ไหม?
สาวกอาหารใต้หายห่วง หลังมีข่าวคนบันเทิงป่วยหลังทานผักพื้นบ้านอย่าง "ลูกเนียง" จนทำเอาหลายคนสงสัยว่า แล้วญาติๆ ของลูกเนียง อย่าง "สะตอ" และ "ลูกเหรียง" มีพิษไหม หรือถ้าทานมากไปจะเกิดอันตรายหรือเปล่า
หลังจากมีข่าวคนบันเทิง ตู้ เดอะวอยซ์ ป่วยกะทันหัน เนื่องจากทาน "ลูกเนียง" เข้าไป โดยสันนิษฐานว่า รับประทานในปริมาณที่มากเกินไป จนเกิดอาการปวดท้อง ปัสสาวะไม่ออก ต้องเข้าโรงพยาบาลด่วนนั้น ทำเอาคนรักอาหารใต้ รวมถึงคนอื่นๆ ที่อาจไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อลูกเนียงมาก่อน หันมาสนใจ อยากรู้จัก "ลูกเนียง" กันให้มากขึ้น
เพราะจริงๆ แล้ว ในหมู่ผักพื้นบ้านที่ชาวใต้ชื่นชอบรับประทานกันนั้น นอกจาก สะตอ และ ลูกเหรียง แล้ว เจ้า "ลูกเนียง" ก็ถือเป็นหนึ่งในผักยอดนิยมของชาวปักษ์ใต้ โดยถึงแม้จะเป็นพืช "ตระกูลถั่ว" เหมือนกัน แถมยังมีกลิ่นฉุนแรงไม่ต่างกัน ก็เลยทำเอาหลายๆ คน กังวลว่า แล้วถ้ารับประทานสะตอ หรือ ลูกเหรียง จำนวนมากๆ ก็จะเกิดอาการป่วยเช่นนี้ด้วยหรือไม่
ก่อนจะไปหาคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้.. เราขอพาไปทำความรู้จัก "ลูกเนียง" ให้ดีกว่านี้กันสักหน่อย โดยข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับ ลูกเนียง หรือ ชะเนียง ว่า เป็นพืชตระกูลถั่ว พันธ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลเป็นฝักใหญ่ ในหนึ่งฝักอาจมี 10-14 เมล็ด เนื้อในเมล็ดใช้บริโภค เมื่อแก่จัดเป็นสีเหลืองนวล มีรสมันกรอบ กลิ่นฉุน
สำหรับ "ประโยชน์" ของลูกเนียง ประกอบด้วยธาตุและสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ในลูกเนียงประกอบด้วยแป้งร้อยละ 70 โปรตีนร้อยละ 15 นอกจากนี้ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 1 บี 12 วิตามินซี ฟอสฟอรัส กำมะถัน กรดโฟลิค กรดอะมิโน 12 ชนิด
แต่ในขณะเดียวกัน ลูกเนียงก็มี "กรดแจงโคลิค" (djenkolic acid) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีกรดกำมะถันสูงมาก และเป็นพิษต่อร่างกาย สารเป็นพิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง ถ้ารับประทานลูกเนียงดิบเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไม่สะดวก ปัสสาวะขุ่นขาวเป็นสีน้ำนม อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง
อาการที่เกิดขึ้นนี้ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เนียงมัด” ซึ่งหากมีอาการมาก จะส่งผลให้ระบบไตล้มเหลว และถึงตายในที่สุด!
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่แน่ชัดในเรื่อง "ปริมาณ" ที่ทานแล้่วเกิดพิษ เพราะในบางคน ทานแค่นิดเดียวก็มีอาการแล้ว แต่สำหรับบางคน แม้จะทานจำนวนมาก ก็ไม่เกิดปัญหาอะไร
ถ้ารับประทานลูกเนียงดิบเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไม่สะดวก ปัสสาวะขุ่นขาวเป็นสีน้ำนม อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เนียงมัด” ซึ่งหากมีอาการมาก จะส่งผลให้ระบบไตล้มเหลว และถึงตายในที่สุด!
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ การป้องกันพิษของลูกเนียง ก่อนที่จะนำมารับประทานไว้ด้วย โดยขอให้ทำตามวิธี ดังนี้
1. ให้นำลูกเนียงมาเพาะในทรายให้หน่องอกแล้วตัดหน่อทิ้งเสีย พิษของลูกเนียงจะลดน้อยลง
2. หั่นลูกเนียงเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้มาดก่อนจะนำมารับประทาน พิษของมันจะลดลง
3. ต้มลูกเนียงในน้ำที่ผสมด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตนาน 10 นาที จะทำให้กรดแจงโคลิคลดลงครึ่งหนึ่ง
ส่วน วิธีรักษาพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยที่แพ้พิษลูกเนียง ปัจจุบันให้ผู้ป่วยรับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต ดื่มน้ำมากๆ หากปัสสาวะออกน้อย หรือปัสสาวะไม่ออก ใช้สายยางสวน
พร้อมกันนี้ ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ได้ระบุถึงพืชในตระกูลเดียวกัน มีลักษณะและรสใกล้เคียงกันกับ "ลูกเนียง" แถมยังเป็นที่นิยมรับประทาน ได้แก่ สะตอ ลูกเหรียง และ ชะเนียงนก ว่า แม้จะมีความคล้ายกัน แต่การเกิดพิษยังไม่ค่อยมี
ถึงแม้จะสบายใจได้ ว่า ทานสะตอแล้วไม่เกิด "พิษ" เช่นที่เกิดจากการทานลูกเนียง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง นั่นคือ สะตอมีกรดยูริกสูง ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐาน ที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะตอ เนื่องจากอาจจะทำให้โรคเกาต์กำเริบได้
หนำซ้ำ "กรดยูริก" ในร่างกายที่สูงก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ และมีอาการหูอื้ออีกด้วย!
อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา , medthai