'ก้าวไกล' คืนโควตารัฐบาล 'กมธ.มั่นคง-กมธ.กฎหมาย'

'ก้าวไกล' คืนโควตารัฐบาล 'กมธ.มั่นคง-กมธ.กฎหมาย'

พรรคก้าวไกลคืน 2 โควตา กมธ.มั่นคง และ กมธ.กฎหมาย ให้ขั้วรัฐบาล โอนให้ พลังประชารัฐและเศรษฐกิจใหม่ ด้านสภาจ่อ ถกพ.ร.บ.โอนงบวาระแรกวันนี้ ลุยตั้ง กมธ.วิสามัญก่อนชงสภาไฟเขียววาระ 2-3 สัปดาห์หน้า ขณะที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าปมใช้งบฯเล็งเรียกหน่วยงานชี้แจง

ความคืบหน้าการพิจารณาคืนโควตาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร ตามที่มีสัดส่วนของ ส.ส.พรรคก้าวไกลลดลง ทำให้พรรคก้าวไกลต้องคืนโควตาประธาน กมธ.ให้สภาฯ ​จำนวน 2 คณะ จากเดิมที่เคยได้โควตา 6 คณะ

โดยล่าสุด มติของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) มีความเห็นร่วมกันว่า ควรคืน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเดิมมีอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ดำรงตำแหน่งประธานกมธ.​ แต่ปัจจุบันว่างลง

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการเกลี่ยสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้าน วิปฝ่ายค้านจึงเตรียมทำเรื่องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รับทราบและจัดสรรให้กับพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ได้สิทธิ์เพิ่มโควตา กมธ.​คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรคเศรษฐกิจใหม่

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อเรื่องดังกล่าวว่ามติของวิปฝ่ายค้าน เป็นเช่นนั้นจริง และเห็นว่าเมื่อตำแหน่งประธาน กมธ.คณะใดว่างลง ควรคืนสู่ส่วนกลาง เพื่อให้จัดสรรให้กับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้การคืนโควตาทั้ง 2 กมธ.นั้น จะไม่กระทบต่อยุทธศาสตร์การตรวจสอบที่ผ่านมา อีกทั้งในโควตา กมธ.4 คณะ ที่พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานกมธ.นั้นถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ฝ่ายค้านล็อกเป้าพ.ร.บ.โอนงบ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ...​ วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาทในวันที่ 4 มิ.ย.นี้
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านได้รับเวลาให้อภิปราย รวม 10 ชั่วโมง โดยล่าสุดได้แบ่งให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านตามสัดส่วนของส.ส. แล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นอภิปรายก่อนรับหลักการนั้นในวันเดียวกันนั้น จะระบุถึงการจัดสรรการโอนงบประมาณ และอาจขอตำหนิรัฐบาลเล็กน้อย ต่อการนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เข้าสู่สภาฯ ช้ากว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ว่าด้วยการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งที่ความเป็นจริงร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ควรเข้าตั้งแต่ช่วงปิดสมัยประชุมตอนขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ

เล็งเรียกหน่วยงานแจงใช้งบฯ

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ มีหลายประเด็นขอปัญหาข้อกฎหมายที่ควรได้รับคำตอบ โดยสิทธิของสภาฯ ทำได้เพียงการขอปรับลดรายการ เพราะรัฐธรรมนูญ​มาตรา 144 กำหนดไว้
นอกจากนั้น การโอนงบประมาณตามกฎหมายกำหนด ว่าสามารถทำได้ เฉพาะโอนไประหว่างหน่วยรับงบประมาณ แต่กรณีที่เกิดขึ้นคือ การโอนงบไว้ที่งบฯ กลาง และนายกฯ​ มีอำนาจสั่งการการใช้ จึงไม่ถือว่าเป็นโอนงบฯ ระหว่างหน่วยงานได้ แต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลบอกว่าทำได้ หากสภาฯ อนุมัติ ดังนั้นในอนาคต อาจมีประเด็นข้อถกเถียงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้เข้มข้น

ส่วนกรณีที่สภาฯ จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาให้เสร็จภายใน 7 วันนั้น ถือว่ามีเวลาเพียงพอต่อการพิจารณา เมื่อสภาฯ ลงมติรับหลักการวันที่ 4 มิ.ย. กมธ.จะเริ่มทำงานทันที วันที่ 5 มิ.ย. และ กมธ.มีสิทธิที่จะเรียกเอกสารจากหน่วยงานได้ตรวจสอบ ทั้งการใช้งบกลาง ปี 2563 ทั้งก้อน และส่วนของการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และแผนการใช้จ่ายเงินในร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ

เปิดสาระร่าง พ.ร.บ.โอนงบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ..... วงเงิน 88,452 ล้านบาทตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ มีหลักการและเหตุผล ให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพิ่มเติม หลังวงเงิน 96,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 2563 นั้น ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้จ่ายสนับสนุนในการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมไปถึงกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นจากสถานการณภัยแล้ง และสาธารณภัยอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ

กลาโหมโอนสูงสุด1.7หมื่นล้าน

สำหรับรายละเอียดที่แต่ละหน่วยงานได้มีการโอนงบประมาณ 2563 คืนรัฐบาลเพื่อตั้งเป็นงบกลางไว้สำหรับแก้ไขปัญหาโควิด โดยเรียงตามลำดับกระทรวงที่โอนงบคืนสูงที่สุด1. กระทรวงกลาโหม จำนวน 17,700 ล้านบาท 2.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,746 ล้านบาท

3.กระทรวงคมนาคม จำนวน 3,427 ล้านบาท 4.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2,057 ล้านบาท 5.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,356 ล้านบาท6.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน1,254 ล้านบาท 7.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,153 ล้านบาท
8.สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1,065 ล้านบาท9.กระทรวงการคลัง จำนวน 778 ล้านบาท 10.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 641 ล้านบาท 11.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 571 ล้านบาท, 12.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวม 506 ล้านบาท

13.กระทรวงยุติธรรม จำนวน 384 ล้านบาท, 14.กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 277 ล้านบาท, 15.กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน203 ล้านบาท, 16.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 192 ล้านบาท, 17. กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 139 ล้านบาท, 18.กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 62 ล้านบาท19. กระทรวงพลังงาน จำนวน 37 ล้านบาท และ 20.กระทรวงแรงงาน จำนวน22 ล้านบาท

ชงสภาไฟเขียวสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ยังมีการโอนงบของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง รวม 775 ล้านบาท อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 544 ล้านบาท สำนักพระพุทธศาสนา จำนวน 177 ล้านบาท เป็นต้น รวมไปถึง งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2,537 ล้านบาท งบประมาณจากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้ง 15 ด้าน รวมกันทั้งสิ้น 13,256 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ ซึ่งเป็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 35,303 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนเดิมที่วางไว้จะเป็นการพิจารณาสามวาระรวดให้จบพร้อมกันภายในวันที่ 5 มิ.ย. แต่ปรากฏว่าวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านตกลงกันว่าจะมีการตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 7 วันก่อนส่งกลับมาให้สภาฯลงมติเห็นชอบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า