ถอดสมการ '200สว.' ลดบารมี 'แดง' จับตาอนาคต 'นายกฯ'

ถอดสมการ '200สว.'  ลดบารมี 'แดง' จับตาอนาคต 'นายกฯ'

เวทีถอดบทเรียน เลือกสว. "อ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" นำข้อมูล มาวิเคราะห์ถึงสมการการเมือง ได้ว่า บารมี "แดง" ลด "ค่ายน้ำเงินผงาด" พร้อมจับตา อนาคต "เศรษฐา" ที่ไม่ใช่ผู้พึ่งพิงอีกต่อไป

KEY

POINTS

Key Point :

  • ผลเลือก สว.200คน พบว่า 60% มาจากค่ายสีน้ำเงิน
  • นักรัฐศาสตร์ ถอดสมการ สะท้อนภาพการเมืองจะเปลี่ยนไป
  • อิทธิพล สีแดง-คนเบื้องหลัง ลดลง จากความอ่อนแอของ เครือข่าย-หัวคะแนน-นโยบาย ถึงแพ้ "คนค่ายน้ำเงิน" ที่จัดตั้งเก่งกว่า
  • ในเชิงอุดมการณ์ ค่ายน้ำเงิน ฝั่งอนุรักษ์เชิงอุปถัมภ์ กำลังมีบทบาทนำทางการเมือง
  • ต้องจับตาชะตากรรม "เศรษฐา ทวีสิน" ที่มีคดีรอตัดสิน ก.ค. นี้ เมื่อไม่ใช่ที่พึ่งแล้ว ตำแหน่งจะถูกเปลี่ยนหรือไม่

ในเวที ถอดบทเรียน เลือกสว.67 ที่จัดโดย เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้แก่ ไอลอว์ วีวอช ร่วมกับ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 28 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “อ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ฐานะผู้เฝ้ามองปรากฎการณ์ทางการเมือง ถอดสมการผลการเลือกสว. ที่เกินครึ่ง เป็น สว. ขั้วบ้านใหญ่-เครือข่ายสายสีน้ำเงิน ว่า เป็นบทสะท้อนที่ส่งผลถึง การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ขั้วสีแดง” เป็นแกนนำรัฐบาลกำลังถูกลดทอนอิทธิพล และ อนาคตของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ถูกวางเดิมพันบางอย่างไว้ ที่ต้องติดตามแบบไม่กระพริบตา

อ.พิชาย เริ่มต้นว่า ระบบการเลือกสว. ที่ออกแบบในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ป้องกันฮั้ว จากการเลือกที่ผ่านมา พบว่า “ล้มเหลว” เนื่องจากมีการฮั้วเกิดขึ้นทุกระบบ เพราะมีการจัดตั้งของเครือข่ายนักการเมืองที่มีอิทธิพล มีอำนาจ เงินตรา หนาแน่น พร้อมกับมีเครือข่ายตั้งแต่ระดับจังหวัด ข้ามจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ในร่มเดียวกัน ที่ขอเรียกว่า “เครือข่ายสายสีน้ำเงิน”

ถอดสมการ \'200สว.\'  ลดบารมี \'แดง\' จับตาอนาคต \'นายกฯ\' “สว.ที่ได้รับเลือก ไม่เป้นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ และการนำคนเหล่านี้มาสมัครโดยไม่ตรงกับอาชีพที่แท้จริง ถือเป็นการดูถูกประชาชน ของผู้จัดตั้งเลือก สว. ที่ผมมองว่าเป็นการดูถูกประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่สนใจหรือ ไม่แยแส ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นข้อผิดพลาดของเขาที่ทำอย่างเหิมเกริมในการจัดตั้ง” อ.พิชาย ระบุ

สำหรับเหตุผลที่ “ฝ่ายจัดตั้ง” ต้องทำแบบนั้น “นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์” มองว่า เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับบางกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทย และทรงอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งอิทธิพลที่ว่านั้น มีมากจนถึงขั้นที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ไม่กล้าตรวจสอบในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นจึงคาดหวังยากที่ให้ กกต. สอย สว.ที่มาจากเครือข่ายนี้ เมื่อเทียบกับการคาดหวังให้ กกต. สอย สส.ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเครือข่ายนี้ ซึ่งพบว่ามีข้อร้องเรียนมากที่สุด

“เครือข่ายเหล่านี้ ได้ สว. เป็นกอบกำ ในจังหวัดที่มี สส.ของพรรคภูมิใจไทยอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ เพราะทางสถิติมีความสัมพันธ์กันสูง ว่า เครือข่ายนี้มีกระบวนการจัดตั้งตั้งแต่เริ่มต้นและขยายตัวเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับเครื่อข่ายอื่นๆในวันเลือก ทำให้เครือข่ายนี้กวาดไปถึง 60% ของสว. ทั้งหมด และเป็นเครือข่ายที่กุมสภาสูง ตั้งแต่วันที่ประกาศรับรอง” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประเมิน พร้อมกับวิเคราะห์มิติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในทางการเมือง ว่า “เครือข่ายสายสีน้ำเงินจะเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนระบบจัดตั้ง เนื่องจากมีทรัพยากรมากและความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มอำนาจบางกลุ่มของสังคมไทย"

ถอดสมการ \'200สว.\'  ลดบารมี \'แดง\' จับตาอนาคต \'นายกฯ\' ขณะที่บทสะท้อนต่อภาพใหญ่ของมิติทางการเมืองไทย  เมื่อเทียบกับสงคราม “ฝ่ายแดง” และ “ฝ่ายส้ม” ที่ฟาดฟัน ชิงอำนาจนำทางการเมืองของฝั่ง “สภาผู้แทนราษฎร” โดย “อ.พิชาย” มองว่า ผลการเลือก สว.ครั้งนี้ เห็นว่า เครือข่ายสีแดง พ่ายแพ้ และศักยภาพของเครือข่ายสีแดงนั้นอ่อนแอลงจากเดิม ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่า บารมีทางการเมืองของคนเบื้องหลังสีแดงนั้นตกต่ำลงมาก  โดยประจักษ์พยานคือ ความพ่ายแพ้ของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

ถอดสมการ \'200สว.\'  ลดบารมี \'แดง\' จับตาอนาคต \'นายกฯ\'

“เดิมเครือข่ายสายสีแดง ถูกประเมินว่า น่าจะเป็นเครือข่ายหลักและกุมเสียงข้างมากในสว. ได้ แต่ผลที่ปรากฎไม่ใช่แแล้ว ดังนั้นนัยของเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจสังคมไทย ที่เล่นเบื้องหลัง ไม่ไว้วางใจเครือข่ายสีแดง และไม่ประสงค์ให้สีแดงยึดกุมทั้งสภาล่างและสภาบน ทำให้ต้องหนุนเสริมเครือข่ายน้ำเงินให้ดำเนินการเข้มข้นเพื่อยึดกุมสภาบนให้ได้ เพื่อใช้เป็นสภาที่คอยรักษาผลประโยขน์และสถานะของกลุ่มอำนาจเดิม ท่ามกลางความท้าทายของพลังใหม่ในสังคม” อ.พิชาย ประเมิน

ทั้งนี้ “นักรัฐศาสตร์จากนิด้า” ยังวิเคราะห์ถึงภูมิทัศน์ทางการเมือง กับผลเลือกสว. ที่โยงกับการเลือกตั้ง สส. ในปี 2570 โดยโฟกัสไปที่ขั้วสีแดง ที่เคยกุมบทบาทนำทางการเมือง ด้วยว่า  การเลือก สว. ที่แพ้ ศักยภาพการจัดตั้ง สะท้อนให้เห็นถึงอ่อนแอของเครือข่าย และในการเลือกสส. รอบที่ผ่านมา พบว่ายังมีความอ่อนแอเรื่องนโยบายและวิสัยทัศน์ ทำให้แพ้พรรคการเมืองฝ่ายเสรีประชาธิปไตย

ดังนั้นสภาพของเครือข่ายนี้ปัจจุบัน เรียกว่า  “อาการหนัก" และจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในการเลือก นายกอบจ.ปทุมธานี วันที่ 30 มิ.ย.นี้

ถอดสมการ \'200สว.\'  ลดบารมี \'แดง\' จับตาอนาคต \'นายกฯ\'

“จุดแข็งของเครือข่ายนี้ที่เคยผงาดในสังคม ปัจจุบันกลายเป็นจุดอ่อน โอกาสที่จะฟื้นนั้นยากลำบาก เพราะสู้ การจัดตั้งของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ของสายสีน้ำเงินในพื้นที่ไม่ได้ ทั้งนี้เคยมีสัญญาณเตือนแล้ว คือ การเลือกตั้งรอบที่แล้ว หลายพื้นที่การจัดตั้งสายสีน้ำเงินสูงกว่าสายสีแดง ดังนั้นการเลือกสว. สนามบ้านใหญ่ที่สายสีน้ำเงินชนะจากการจัดตั้งและหัวคะแนน จึงกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลและมีพลังอำนาจมากที่สุด” อ.พิชาย ระบุ

ภาพสะท้อน "200สว.สีน้ำเงิน" ผูกโยง “อนาคต-เศรษฐา”

เมื่อเครือข่ายสายสีน้ำเงิน กลายมาเป็นขั้วอำนาจใหญ่ใน “เวทีการเมือง” อ.พิชาย มองภาพเชื่อมโยงกับชะตากรรมของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ที่เตรียมถูกตัดสินคดีในเดือน ก.ค. นี้ เพราะเครือข่ายสายสีน้ำเงินเข้ามามีอำนาจในสภาสูง ขณะที่สภาล่างมี จำนวน สส. ที่มีนัยสำคัญ เมื่อบวกกับกลุ่มอำนาจเดิม ย่อมเกิดผลความไม่แน่นอนกับอนาคตทางการเมืองของ “ผู้นำประเทศปัจจุบัน”

“กลุ่มอำนาจเดิมมองว่าสีแดงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแล้ว เพราะมีสีน้ำเงินเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ต้องจับตาดูในระยะสั้นนี้ให้ดี นอกจากนั้นผลการเลือก สว. ทำให้มูลค่าการเมืองของเครือข่ายสายสีน้ำเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะแวดวงชั้นนำทางอำนาจ  ขณะที่มูลค่าทางการเมืองของสีแดงนั้นลดลง”

ถอดสมการ \'200สว.\'  ลดบารมี \'แดง\' จับตาอนาคต \'นายกฯ\'

คำเตือนจาก นักเฝ้ามองการเมือง ระวังแพ้ภัยตัวเอง

อ.พิชาย บอกด้วยว่า “ผมขอเตือนเครือข่ายสายสีน้ำเงิน ว่า แม้จะคุมสว. เสียงข้างมากก็จริง แต่การทำอะไรตามอำเภอใจ มากเกินไป ประชาชนจำนวนมากไม่ยอม ขณะที่ในสภาสูงที่มี สว.สายเสรีนิยมประชาธิปไตย แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่พวกเขามี ประชาชน 20 ล้านคนเป็นหลังอิงให้ ดังนั้นจึงเป็นพลังหนุน และผมหวัง ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง สว.สายสีน้ำเงินจะมีความคิดเป็นของตัวเองและฟังเสียงประชาชน เพราะฐานะเขาคือประชาชนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายชั้นสูง และอยากผลักดันให้ธรรมเนียมปฏิบัติการเมืมองแบบใหม่ในวุฒิสภา ให้การทำงานโปร่งใส”

พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยว่าเพื่อให้การเกาะติดการทำงานของ สว.ชุดใหม่ อยากให้ “ผู้สมัคร สว. รวมตัวจับมือเพื่อตั้งเป็นเครือข่ายผู้สมัครเพื่อติดตามการทำงานของสว.ใหม่ใกล้ชิด”.