พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดาบอาญาสิทธิ์ในมือบิ๊กตู่
“ต้องเห็นใจด้วยว่า ต้องมีกฎหมายสักตัวที่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ”
ซุ่มเสียงจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อถูกถามถึงประเด็นการต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่30 มิ.ย.นี้
เหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณอย่างกลายๆ และเป็นท่าทีที่ไม่ต่างจากรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม”ที่ก่อนหน้านี้ ออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า
ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของพ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเฉพาะเรื่องการบูรณาการในส่วนของหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งไม่สามารถทำได้ภายใต้พ.ร.บ.นี้
ดังนั้นการที่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังประกาศใช้อยู่ ก็จะสามารถดำเนินการต่างๆได้อย่างทันถ่วงทีแม้จะมีการชุมนุมหลังผ่อนปรนมาตรการก็ตาม
แม้นาทีนี้แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลในการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แต่เมื่อฟังซุ่มเสียงทั้งจากนายกฯ และรองนายกฯวิษณุแล้ว แนวโน้มการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกเป็นรอบที่4กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่า“เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จนมีการผ่อนมาตรการต่างๆลงแล้ว เหตุใดจึงต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน?”
อย่างที่รู้กันว่า ในแง่การบริหารงาน รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ความแตกต่างระหว่าง “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และ“พ.ร.บ.โรคติดต่อ”จะอยู่ที่ขอบเขตและอำนาจในการบริหารจัดการ
โดยในส่วนของ“พ.ร.บ.โรคติดต่อ” จะมีเพียงแค่รมว.สาธารณสุขที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ และบุคลากรในกระทรวงที่ร่วมเป็นคณะกรรมการเท่านั้น
ต่างจาก“พ.ร.กฉุกเฉิน”ซึ่งครั้งนี้ตัว“บิ๊กตู่” นั่งเป็นผู้นำทัพด้วยตนเอง(โดยปกติจะตั้งรองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย)
นอกจากนี้ยังยังมีหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รวมถึงผู้นำเหล่าทัพร่วมเป็นกรรมการ และถือเป็นการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของตัว “บิ๊กตู่” ไปในคราวเดียวกัน
ยิ่งในสภาวะที่พรรคร่วมรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพ ชนิดที่ทำงานไปคนละทิศละทางด้วยแล้วหากตัว“บิ๊กตู่”ไม่รวบอำนาจไว้เช่นนี้มีหวังล้มไม่เป็นท่าแน่นอน
ทว่านอกเหนือจากปัจจัยการควบคุมโรค ที่ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลการขยายพ.ร.ก.ครั้งนี้ แล้ว ยังมีการมองไปถึง “ปัจจัยทางการเมือง” ที่รอปะทุอยู่ในขณะนี้
ทั้งกรณีการเคลื่อนไหวของแกนนำ“คณะก้าวหน้า” และแนวร่วมก่อนหน้านี้ จนมาถึงกรณีการหายตัวไปของ“ตาร์”วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่หายตัวไปจากหน้าที่พัก ในกรุงพนมเปญ ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ดังนั้นหากจะบอกว่า การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเสมือน“ดาบอาญาสิทธิ์” อยู่ในมือ ถือเป็นผลพลอยได้ในการกำราบม็อบไม่ให้เคลื่อนไหวไหวได้ชั่วขณะก็คงไม่ผิดสักเท่าไรนัก แม้ตัวบิ๊กตู่จะบอกว่า“ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ก็ตาม