‘กนง.’ หั่น ‘GDP’ ปีนี้หดตัว 8.1% หนักกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง
"กนง." คาดการณ์ “GDP” ปีนี้ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% จากเดิม 5.3% เหตุโควิดกระทบเศรษฐกิจแรงกว่า "วิกฤติต้มยำกุ้ง" เชื่อครึ่งปีหลังทยอยฟื้นตัวหลังเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้
มติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี นั้น ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8.1% จากเดิม คาดว่าจะหดตัวในระดับ 5.3%
เรื่องดังกล่าว นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า จากที่ กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8.1% จากเดิม คาดว่าจะหดตัวในระดับ 5.3%
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ ที่หดตัวมากกว่าประมาณการเดิม กนง. มองว่า เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจรูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เอื้อให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. จึงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว 8.1% ตามที่ กนง. ประเมินไว้ จะถือเป็นการหดตัวที่มากสุดในประวัติการณ์ โดยเป็นตัวเลขที่หดตัวสูงกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ขณะนั้น หดตัวราว 7.6% ในปี 2541