‘บัตรคนจน’ เดือนกรกฎาคม รอรับเงิน 4 เด้ง!!
ผู้ถือ "บัตรคนจน" เฮ! กรกฎาคมนี้รับเงิน 4 เด้ง เงินเยียวยา 3,000 บาทเข้าพร้อมกันรวดเดียว เช็คได้ที่นี่ จะมีเงินอะไร เข้าวันไหนบ้าง !?
หลังจากเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบกับการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมใน 4 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ได้แก่ เยียวยาเกษตรกร ในกลุ่มคนที่ลงทะเบียนไม่ทัน หรือ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ , เยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ , เยียวยากลุ่มเปราะบาง และ เยียวยาผู้ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่ผ่าน นั้น
สำหรับกลุ่มผู้ที่มี “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จำนวน 1.6 ล้านราย รอรับได้เลย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เช็คมาให้แล้ว เงินอะไร เข้าวันไหนบ้าง ? โดยจะรวมทั้งสิ้น 4 เด้ง ได้แก่
1. เงินตามสิทธิผู้ถือบัตรคนจน ประจำเดือนกรกฎาคม (นับเฉพาะเงินที่สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้ได้)
2. เงินเยียวยา 1,000 บาท (เดือน พ.ค.)
3. เงินเยียวยา 1,000 บาท (เดือน มิ.ย.)
4. เงินเยียวยา 1,000 บาท (เดือน ก.ค.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘เยียวยาเกษตรกร’ เช็คสิทธิ์ www.moac.go.th ‘ธ.ก.ส.’ โอนเงินห้าพันงวด 3 เริ่ม 15 ก.ค. เป็นต้นไป
- ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ตรวจสอบสถานะ ‘เงินเยียวยา’ โอนเงินวันสุดท้าย!
- 'ประกันสังคม' เปิดลงทะเบียนแรงงานอิสระอายุ 60-65 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
- สรุปทุกมาตรการ! 'เยียวยา' ได้ 'เงิน' ห้าพัน 3 หรือ 6 เดือน ลงทะเบียนรอบ 2 ได้จริงไหม
รายละเอียดดังนี้
- เด้งที่ 1 : การรับเงินตามสิทธิผู้ถือบัตรคนจน ประจำเดือนกรกฎาคม 2563
เราขอเริ่มต้นที่ “รอบการจ่ายเงิน” ตามปกติ ซึ่งกรมบัญชีกลาง ทำการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ถือบัตรคนจน เป็นประจำทุกๆ เดือนตามสิทธิที่จะได้รับของผู้ถือบัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งตามปกติ เงินที่ได้รับจะมีสองประเภท คือ ประเภทให้เป็น "วงเงิน" ให้ใช้จ่ายผ่านบัตร เช่น ซื้อสินค้าของกินของใช้ หรือ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
และอีกประเภทที่กำลังพูดถึงนี้ ก็คือ เงินโอนชนิดที่ผู้ถือบัตรสามารถ "กดเงินสด" ออกมาใช้อะไรก็ได้ โดยในหนึ่งเดือน จะมีการโอนเงินจำนวนนี้สองครั้งด้วยกัน คือ ทุกวันที่ 15 และ ทุกวันที่ 18 ดังนี้
โอนเงินวันที่ 15 กรกฎาคม
- การโอนคืนเงินภาษี VAT 5% ของยอดเงินที่ใช้จ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ หมายถึง หากผู้ที่ถือบัตรคนจนนำบัตรไปรูดซื้อของที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคืนภาษี ซึ่งร้านค้าจะเก็บรวบรวมยอดไว้ในแต่ละเดือน คิดเป็นจำนวน 5% ของยอดที่ใช้จ่ายไป
โดยเงินที่คืนจากส่วนนี้ แต่ละคนจะได้คืนสูงสุด 500 บาท ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถไปกดออกมาเป็นเงินสดออกมาใช้ได้
- เงินพิเศษผู้สูงอายุ (เฉพาะผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ) ซึ่งจะได้เพิ่มเติมรายละ 50 และ 100 บาท ตามเกณฑ์รายได้ โดยเงินจะโอนเข้าบัตรทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน และสามารถกดออกมาเป็นเงินสดมาใช้ได้เช่นกัน
โอนเงินวันที่ 18 กรกฎาคม
- ส่วนลดค่าน้ำประปา สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไว้กับการประปาในพื้นที่ โดยจะต้องใช้น้ำไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็คือเดือนละไม่เกิน 100 บาท เมื่อบิลค่าน้ำประปามาต้องจ่ายเงินสดไปก่อน จากนั้นระบบจะบันทึกข้อมูล และโอนเงินสดกลับมาเข้าบัตรในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยสามารถนำบัตรกดออกมาเป็นเงินสดได้เลย
- ส่วนลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน โดยจะต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็คือ 230 บาท เมื่อสิ้นเดือนบิลค่าไฟฟ้ามาให้จ่ายเงินไปก่อน เมื่อระบบจัดเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว พบว่าใช้ไม่เกินเกณฑ์ ก็จะโอนเงินช่วยเหลือกลับมาเข้าบัตรให้ 230 บาท ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 สามารถไปกดเงินสดออกมาใช้เช่นกัน
- เด้งที่ 2-4 : รับเงินเยียวยา 1,000 บาท 3 เดือน รวม 3,000 บาท
และล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ก็คือ ความชัดเจนของมาตรการมาตรการจ่าย "เงินเยียวยา" ช่วยเหลือเพิ่มเติมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 "กลุ่มเปราะบาง" ประกอบด้วย เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ รวมถึงกลุ่ม "ผู้ถือบัตรสวัสดิการ" หรือ บัตรคนจน ที่จะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท แบ่งเป็น 1,000 บาท 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 นั้น
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ผ่าน สายด่วน พม.1300 ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า การจ่ายเงินเยียวยากลุ่มอุดหนุนเด็กแรกเกิด-6 ปี รวมถึงผู้พิการ และผู้สูงอายุนั้น จะจ่ายรวดเดียวทุกกลุ่ม ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เป็นจำนวน 3,000 บาท
ฉะนั้น ในส่วนของผู้ถือ "บัตรคนจน" หรือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ก็จะได้เงินแน่นอน 3,000 บาท ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้
โดยจะเป็นการโอนเงินเข้าพร้อมกัน 3 เด้ง คือ เงินเยียวยา 1,000 บาท ของเดือนพฤษภาคม, มิถุนายน และ กรกฎาคม รวมแล้วในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จะได้รับเงินทั้งหมด 3,000 บาท
และย้ำกันอีกครั้งว่า การจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาทก้อนนี้ จะยึดตามข้อมูลที่อัพเดทภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนใหม่แต่อย่างใด แต่ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินจากทั้ง 3 กลุ่ม จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะจัดสรรเงินเยียวยาตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อขอรับสิทธิช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการนี้
สำหรับช่องทางการรับเงินเยียวยา จะเป็นช่องทางเดียวกับที่ได้รับเงินอุดหนุนและเบี้ยยังชีพที่เป็นรายเดือนอยู่แล้ว แยกเป็น 2 กรณี คือ
- หากเคยรับเงินอุดหนุนผ่านบัญชีธนาคาร เงินเยียวยาครั้งนี้จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เคยได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพิ่มเติมจากเบี้ยผู้สูงอายุ หรือเพิ่มเติมจากคนพิการ
- หากไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่ได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคารตั้งแต่แรก จะเป็นการไปรับเงินเยียวยาที่เป็นเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร 1300 ตลอด 24 ชม.