เบี้ยวหนี้ ‘กยศ.’ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
อย่าลืม! 5 ก.ค. วันสุดท้ายของกำหนดชำระหนี้ กยศ.ประจำปี อ่านกรณีศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับ "ลูกหนี้" ที่ผิดนัดชำระหนี้ "กยศ." พร้อมแนวทางจัดการเมื่อถูกฟ้องดำเนินคดี
5 ก.ค. ของทุกปี คือวันครบกำหนดชำระหนี้คืนของ "กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ "กยศ." สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ผ่อนชำระคืนในปี 2563 จะต้องชำระเงินคืนตามที่ กยศ. กำหนดภายในวันที่ 5 ก.ค. 63
การชำระหนี้ครบตามเวลาที่ กยศ. กำหนด นอกจากจะช่วยให้รุ่นน้องมีได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังทำให้ลูกหนี้ที่ชำระเงินคืนมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีด้วย
ทว่า ข่าวคราวก็ยึดทรัพย์ และคดีความเกี่ยวกับ กยศ. ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งหลายครั้งเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจหลักเกณ์การไม่ชำระหนี้ กยศ. คืน ตามเวลาและจำนวนเงินที่กำหนด หรือความพยายาม "เบี้ยวหนี้" ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับตัวผู้กู้และผู้ค้ำประกัน
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงรวบรวมเงื่อนไขต่างๆ ของ กยศ. ที่จะถูกนำมาใช้เมื่อ "ลูกหนี้" ผิดนัดชำระหนี้ "กยศ." ดังนี้
- ผิดนัดชำระหนี้ ต้องโดนค่าปรับ
ตามปกติ กองทุนจะมีหนังสือแจ้งภาระหนี้ ส่งไปถึงผู้กู้ยืม 1 ครั้ง ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก โดยจะส่งไปยังที่อยู่เดิมตามภูมิลำเนาของผู้กู้ยืม หรือตามที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์
โดย ผู้กู้ยืมเงิน ต้องชำระเงินกู้ยืม พร้อมทั้งดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด 1% ต่อปี โดยต้องคืน ให้กองทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันที่ต้องเริ่มชำระหนี้ ทั้งนี้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้งวดแรก ภายในวันที่ 5 ก.ค. หลังจากครบระยะเวลาปลอดหนี้ โดยการชำระหนี้งวดต่อๆ ไปผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินต้นคืน ตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมด้วยดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด ในอัตรา 1% ต่อปีของเงินต้นที่คงค้าง ภายในวันที่ 5 ก.ค.ของทุกปี
หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมเงินจะต้องชำระค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมจัดการกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด
ค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกู้ยืมคืน ปัจจุบันอยู่ที่ 7.5% ต่อปี (ปรับลดจาก 12-18% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 62 ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 62 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม คือ 12-18% ต่อปี
- ค้างชำระนาน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระ นอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับ และเสียค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องแล้ว หากไม่ชำระคืนเป็นเวลานานจะถูกฟ้องดำเนินคดี โดยมีเกณฑ์ที่ถูกฟ้องร้องตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
กรณีแรก ผู้กู้ยืม กยศ. และ กรอ.ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป)
กรณีที่สอง ผู้กู้ยืม กยศ. และ กรอ. ที่พ้นระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีหนี้ค้างชำระ
กรณีที่สาม ผู้กู้ยืม กยศ. กลุ่มไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี (มีหนี้ค้างชำระ)
โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมเสียชีวิตหรือสาบสูญ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมพิการหรือทุพพลภาพ ที่ได้รับอนุมัติให้ระงับการเรียกให้ชำระหนี้แล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว หรือผู้รับทุนที่มีบัญชีติดลบ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ยินยอมให้กองทุนฯ หักเงินเดือน
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้มากกว่า 10% ของยอดหนี้คงเหลือ (ผลรับชำระหนี้ 2 ปี ย้อนหลัง)
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ถูกฟ้องร้อง
กรณีที่ผู้กู้ยืม ผิดนัดชำระตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด จะมีโอกาสถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ดังนี้
- กองทุนส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืม ให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทราบ และขอให้มีการชำระหนี้ หากผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจะส่งรายชื่อให้บมจ.ธนาคารกรุงไทยดำเนินคดี
- บมจ.ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการฟ้องคดีกับผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันตามสัญญากู้ยืมเงิน (ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจะได้รับหมายศาล)
- เมื่อศาลมีหมายนัด ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต้องไปตามนัด โดยในวันนัดจะมีการไกล่เกลี่ยประนีประนอม
- ศาลพิพากษา เมื่อศาลมีคำพิพากษา ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น หากยังไม่มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจะส่งคำบังคับให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน และจะทำการยึดทรัพย์ตามกฎหมายต่อไป
- ต้องรับสภาพการบังคับคดีตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษา
ผู้กู้ยืมไม่มีเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาครั้งเดียวได้ ประสงค์จะผ่อนชำระ สามารถทำได้ตามความประสงค์ ในระหว่างที่กองทุนฯ ยังไม่ได้ดำเนินการบังคับคดี แต่หากกองทุนดำเนินการบังคับคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้กู้ยืมต้องรับสภาพการบังคับคดีนั้นตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษา
พลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา หากผู้กู้ยืมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น กองทุนจะดำเนินการสืบทรัพย์ของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันและบังคับคดี โดยการยึดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนกองทุน ซึ่งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่สามารถเลือก 2 ทางเลือกที่สามารถทำได้ คือ 1. ชำระหนี้ปิดบัญชี ซึ่งหมายถึงการการจ่ายเงินปิดบัญชีทั้งหมด หรือ 2. ไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี ตามขั้นตอนทางกฎหมาย