ถ้า 'ยื่นภาษี' ล่าช้า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาครัฐขยายเวลาการยื่นภาษีออกไปถึงเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งก็กินระยะเวลายาวนานกว่าปกติ อาจทำให้หลายคนล่วงลืมไป จึงเกิดประเด็นคำถามขึ้นว่า หากไม่ได้ยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด จะต้องทำอย่างไรบ้าง?
เนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ระยะเวลาการผ่อนผันเรื่องของการยื่นภาษีได้มีการผ่อนปรน จากปกติต้องยื่นภายใน 31 มี.ค.ของทุกปี แต่ในปี 2563 นี้ สามารถผ่อนผันได้ถึง ส.ค.2563 และด้วยความไม่เคยชินนี้ อาจทำให้หลายๆ ท่านที่ตั้งใจไว้ว่าจะรอยื่นภาษีตอนเดือน ส.ค. อาจหลงลืม มานึกขึ้นได้อีกทีก็ล่วงเข้าเดือน ก.ย.ไปแล้ว
รวมถึงก็มีหลายๆ ท่านมาปรึกษาพูดคุยกับทีมงานผมว่า บางทีไม่เคยยื่นภาษีมาก่อนเลย อาจจะด้วยการที่ทำธุรกิจออนไลน์ หรืออาจจะคิดว่ามีการหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นก็ได้ แต่ถ้าอยากจะยื่นภาษีให้ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร และหากยื่นไปจะต้องมีเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มอย่างไรบ้าง
วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญ การวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับการยื่นภาษีครับหากลืมจ่ายภาษี ทำอย่างไรดี
“ก่อนอื่นอยากให้ทุกท่านลองคำนวณภาษีตัวเองกันคร่าวๆ ก่อนว่า รายได้ที่ได้รับมาในปี 2562 นั้น กับสิ่งที่ถูกหักไว้ เมื่อหักลบแล้ว ท่านต้องเสียภาษีเพิ่ม หรือว่าได้ภาษีคืน หากลองดูแล้ว ปรากฏว่าได้ภาษีคืน ผมขอแนะนำให้ท่านยื่นภาษี ณ วันนี้ ไม่ต้องรอให้ครบกำหนด ส.ค.ครับ เพราะถ้าจะสามารถได้เงินคืนภาษี เพื่อมาวางแผนภาษีใหม่ในปีนี้ได้ ไม่ว่าจะทยอยซื้อกองทุน หรือว่าทยอยซื้อประกันสุขภาพ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีปีหน้าได้ถึง 25,000 บาท (เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท) ส่วนท่านที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม เนื่องด้วยสถานการณ์แบบนี้ ท่านอาจจะต้องลองคำนวณและวางแผนการเงินสำหรับการชำระภาษีดูนะครับ
แต่วันนี้ ผมอยากให้เล่าให้ทุกท่านทราบว่า หากเราไม่ได้ยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมมีรายละเอียดข้อมูลขั้นตอนมาอธิบายให้ทราบกันครับ
อย่างแรกเลยนั้น หากท่านไม่สามารถยื่นภาษีได้ทันในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ท่านจะไม่สามารถยื่นภาษีย้อนหลังทางช่องทางออนไลน์ได้ครับ สิ่งที่ท่านต้องทำก็คือ การเตรียมเอกสารรายได้ เอกสารการลดหย่อนต่างๆ ให้พร้อม และกรอกแบบฟอร์มการยื่นภาษีให้เรียบร้อย แล้วเดินทางไปยื่นภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านท่านให้เร็วที่สุดครับ (ไม่จำเป็นต้องเป็นสรรพากรพื้นที่เขตตามบัตรประชาชนนะครับ เพราะข้อมูลทุกอย่างจะออนไลน์ถึงกัน)
เพราะว่าทางกรมสรรพากรนั้นมีบทลงโทษสำหรับผู้ยื่นภาษีอยู่ครับ โดยแบ่งเป็น โทษค่าปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการไม่ยื่นภาษีในช่วงเวลาที่กำหนด และค่าปรับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม โดยนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการรับชำระภาษี โดยเศษของหนึ่งเดือนก็จะถูกปัดเป็นหนึ่งเดือนด้วยครับ
นั่นหมายความว่ายิ่งเราเข้าไปยื่นภาษีที่สรรพากรช้าเท่าไร ก็จะยิ่งโดนค่าปรับมากขึ้นเท่านั้น
แล้วถ้าเรายื่นช้า แต่ไม่มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มล่ะ จะเป็นอย่างไร
ในกรณีนี้นั้นผู้ยื่นภาษีจะเสียเพียงค่าปรับ 2,000 บาทเท่านั้นครับ โดยไม่ต้องเสียในส่วนของเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 แต่อย่างใด
แล้วถ้าเป็นในกรณีที่ยื่นไปแล้ว แต่ยื่นผิด ต้องยื่นเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงยอดภาษีนั้น ก็ยังสามารถยื่นแก้ไขออนไลน์ได้ หากยังอยู่ในช่วงที่ทางสรรพากรกำหนดไว้อยู่ แต่หากว่าเลยกำหนดมาแล้วนั้น ก็ต้องนำเอกสารไปยื่นที่สรรพากรครับ
โดยที่หากการปรับปรุงยอดภาษีแล้วต้องมีการชำระภาษีเพิ่มเติม ผู้ยื่นภาษีจะต้องเสียภาษีและในส่วนของเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ 2,000 บาทแต่อย่างใด
แต่ถ้าหากหลังจากยื่นเพิ่มเติมแล้ว ไม่มียอดภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ผู้ยื่นก็ไม่ต้องชำระทั้งในส่วนของค่าปรับ 2,000 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนครับ
แล้วถ้าเป็นกรณีที่ยื่นภาษีไปแล้ว แต่ลืมชำระภาษีในระยะเวลาที่กำหนดละจะเป็นอย่างไร?
สำหรับกรณีนี้นั้นสรรพากรจะถือว่าผู้ยื่นยังไม่ได้ทำการยื่นภาษีครับ ทำให้จะต้องเตรียมเอกสารแล้วเข้าไปดำเนินการยื่นภาษีให้เรียบร้อยที่สรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านท่าน พร้อมทั้งชำระค่าปรับ 2,000 บาท และหากมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนด้วยครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งวิตกกังวลกันไปนะครับ หากเราชำระตรงตามกำหนด เรื่องเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น อยากให้ท่านผู้อ่านหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วบันทึกลงในตารางปฏิทิน เพื่อให้เราจะไม่พลาดนะครับ”