‘Data is the new oil’ การแข่งขันที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก
"Data is the new Oil" หรือยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะการแข่งขันในยุคใหม่ หากต้องแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ของต่างประเทศ ยิ่งทำให้บริษัทในประเทศที่ขาดข้อมูลนั้น ยิ่งแข่งขันอย่างยากลำบากมากขึ้น
อุตสาหกรรม 4.0 ทำให้โลกก้าวสู่ยุค Physical Cyber System ที่บริษัทและหน่วยงานต่างๆ เน้นเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล จับต้องไม่ได้ จนมีคนกล่าวว่า Data is the new Oil เปรียบเสมือนน้ำมัน ที่มีมูลค่ามากในอดีต บริษัทใดมีข้อมูลจำนวนมากยิ่งมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง
จากข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่ทำให้บริษัทเหล่านั้น เข้าใจความต้องการผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และทำให้คาดการณ์ด้านต่างๆ ได้ ตั้งแต่เตรียมสินค้าตามความต้องการตลาด กำหนดราคาสินค้าได้เหมาะสม นำเสนอขายสินค้าตามความต้องการลูกค้าได้แม่นยำ เมื่อบริษัทเหล่านี้วิเคราะห์ข้อมูลได้ดี ยิ่งได้ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีลูกค้ามากขึ้นยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นไปอีก บริษัทยิ่งมีศักยภาพที่ดีขึ้นวิเคราะห์ข้อมูลแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายรายเล็กที่ขาดข้อมูลหรือมีเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ จนทำให้เหลือรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่รายในแต่ละธุรกิจ นั่นคือเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า The winner takes all
การที่จะมีข้อมูลขนาดใหญ่ได้ นอกจากต้องมีความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากแล้ว บริษัทต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้มหาศาลและต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ประมวลผลได้ บริษัทอย่าง อาลีบาบา กูเกิล หรือ อเมซอน ล้วนมีเซิร์ฟเวอร์หลายล้านเครื่อง มีสตอเรจขนาดใหญ่ และแต่ละวันต้องการการประมวลผลหลายเพตาไบท์ ขณะที่ยังมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมากที่วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมถึงทำปัญญาประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมในด้านต่างๆ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแข่งขันยุคใหม่ หากบริษัทมีข้อมูลน้อยมีทรัพยากรด้านไอทีหรือบุคลากรน้อยจะแข่งลำบาก และหากต้องแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ของต่างประเทศยิ่งทำให้บริษัทในประเทศที่ขาดข้อมูลยิ่งแข่งขันอย่างยากลำบาก
ดังนั้นบางประเทศ เช่น อินเดียจึงได้ตัดสินใจออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทนำข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่ซื้อขายออนไลน์ออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลออกนอกประเทศ อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทที่อยู่ในประเทศ
สำหรับไทยก็พบกับปัญหานี้เช่นกัน จึงอาจจำเป็นต้องคิดถึงการรักษาอธิปไตยด้านข้อมูล ทำอย่างไรให้ข้อมูลอยู่ในประเทศ ทำอย่างไรให้บริษัทใหญ่ๆ มีข้อมูลมหาศาล ทำอย่างไรให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และทำอย่างไรให้ไทยมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมากในการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์
กลยุทธ์เหล่านี้ต้องผสานกันระหว่างธุรกิจกับด้านไอที ลำพังเพียงกลยุทธ์ไอทีไม่สามารถดึงข้อมูลขนาดใหญ่มาได้ หากไม่ได้กลยุทธ์ทางธุรกิจหรือการตลาดมาเสริม ถึงแม้ทีมไอทีจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขึ้นมา แต่จะเผชิญความยากที่จะทำอย่างไรให้มีผู้ใช้จำนวนมากและได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับธุรกิจ
เช่นเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องออกกฎหมาย และมาตรการต่างๆ สนับสนุนภาคธุรกิจในประเทศเพื่อให้แข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน อาจจำเป็นจะต้องออกกฎระเบียบให้ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ อยู่ในประเทศ รวมถึงต้องหามาตรการทางภาษีมาส่งเสริมให้บริษัทในประเทศสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในด้านข้อมูลได้ เพราะสุดท้ายแล้วในวันนี้โลกกำลังแข่งว่าใครมีข้อมูลมากกว่ากัน