'แรงงาน' ห่วงเลิกจ้างพุ่ง โควิดหยุดกิจการชั่วคราว 4.4 พันแห่ง บัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคนอาจว่างงาน

'แรงงาน' ห่วงเลิกจ้างพุ่ง โควิดหยุดกิจการชั่วคราว 4.4 พันแห่ง บัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคนอาจว่างงาน

กสร.จับตา ก.ค.-ก.ย.แนวโน้มนายจ้างใช้ ม.75 เลิกจ้างสูงขึ้น เผยโควิด 4 เดือน สถานประกอบการหยุดชั่วคราว 4.4 พันแห่ง กระทบลูกจ้าง 8.9 แสนคน สศช.ชู 4 แสนล้าน จ้างงาน 4.1 แสนตำแหน่ง จ้างทำข้อมูลดูแลผู้สูงอายุ “กอบศักดิ์” ห่วงบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคนอาจว่างงาน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการจ้างงาน ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือทุกกลุ่ม ในขณะที่แนวโน้มการเลิกจ้างยังคงมีอยู่แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลง

นายจรัญชัย ก่อศรีพิทักษ์กุล ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ข้อมูลสถานประกอบการสำหรับกิจการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 ถึง 5 ก.ค.2563 พบว่ามีสถานประกอบการ 4,458 แห่ง กระทบลูกจ้าง 896,330 คน รวม 247,031 วัน ในจำนวนนี้หยุดกิจการบางส่วน 2,117 แห่ง หยุดกิจการทั้งหมด 3,030 แห่ง 

159462159913

ทั้งนี้ หากพิจารณาในวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.-5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่งกระทบลูกจ้าง 896,330 คน รวม 247,031 วัน ในจำนวนนี้หยุดกิจการบางส่วน 2,117 แห่งหยุดกิจการทั้งหมด 3,030 แห่ง

ประเภทกิจการที่ใช้มาตรา 75 มากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ การผลิต เช่น การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ ,การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก

อันดับ 2 โรงแรมและภัตตาคารและอันดับ 3 บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ เช่น บริการจัดหางานและการสรรหาบุคลากร การให้เช่า การขาย การซื้อและการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ 3 สาเหตุหลักที่ใช้แนวทางนี้ ได้แก่ 1.การระบาดของโรคโควิด 2.ลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ 3.ขาดทุนสะสมจำนวนมากและไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าตามปกติ โดยหากดูความรุนแรงยิ่งใช้ ม.75 จำนวนโรงงาน ลูกจ้างได้รับผลกระทบ และหยุดทั้งหมดมากแสดงว่าวิกฤติสุด ซึ่งขณะนี้จำนวนลดลงดูแนวโน้มน่าจะดีขึ้น

159462156481

  • ชิ้นส่วนยานยนต์เลิกจ้างอันดับ 1

ขณะที่ข้อมูลเลิกจ้างประจำปีงบประมาณ 2563 ระหว่าง ต.ค.2562-5 ก.ค.2563 พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้าง 1,266 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 20,696 คน เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับ 365.5 ล้านบาท แบ่งเป็น ออกคำสั่ง 199.7 ล้านบาท ตกลงกันได้ 165.8 ล้านบาท

ประเภทกิจการที่เลิกจ้าง อันดับ 1 ได้แก่ การผลิต เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์, การผลิตเครื่องแต่งกาย, การทำเครื่องประดับจากเพชรพลอย โลหะมีค่าและไข่มุก, การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น

อันดับ 2 การขายส่ง ขายปลีกการซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช่ส่วนบุคคลและของใช้ครัวเรือน เช่น การขายปลีกยานยนต์, การขายส่งสินค้าประเภทอื่น, การขายส่งสินค้าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและส่วนประกอบ ร้านขายปลีกอื่น 

อันดับ 3 บริการด้านอสังหาริมทรัพย์การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ เช่น บริการจัดหางานและการสรรหาบุคลากร, การให้เช่า การขาย การซื้อและการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์, บริการรักษาความปลอดภัยสาเหตุการเลิกจ้างได้แก่ 1.ขาดทุนสะสมจำนวนมากและไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า 2.การระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ 3.เลิกกิจการ

นายจรัญชัย อธิบายว่า เดือน มี.ค.มีตัวเลขการเลิกจ้างถึง 3,123 คน เพราะเป็นช่วงโควิด-19 กำลังระบาด นายจ้างต้องใช้ มาตรา 75 คือ จ่าย 75% ของเงินเดือน และยังไม่มีมาตรการเยียวยาเหตุสุดวิสัย 62% จากประกันสังคม นายจ้างจึงมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ จ่าย 75% ให้ลูกจ้างอยู่ต่อ หรือเลิกจ้างไปเลย เพราะฉะนั้น นายจ้างอาจเลือกเลิกจ้างไปเลย พอมาเดือน เม.ย.จำนวนถูกเลิกจ้างลดลง เพราะมีมาตรการเยียวยาจากประกันสังคม

159462163646

  • จับตาหยุดกิจการชั่วคราวไตรมาส 3 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ เดือน มิ.ย.จำนวนเงินที่ตกลงกันได้มีเพียง 4 แสนบาท ส่วนอีก 4.9 ล้านบาท ต้องมีการออกคำสั่ง แสดงว่ายิ่งหลังโควิด-19 มากเท่าไหร่ เวลาถูกเลิกจ้างหรือถูกละเมิดยิ่งต้องใช้อำนาจของรัฐเข้าไปหาข้อเท็จจริง สถานประกอบการที่เลิกจ้างช่วงหลังอาจมองว่ากำลังจะเข้าตาจนไม่มีทุนจะต่อ เพราะดึงมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19

“ต้องมาดูว่าตอนนี้สถานการณ์ปกติ และลูกจ้างได้รับการชดเชยเหตุสุดวิสัย 62% จำนวน 90 วันครบแล้ว นายจ้างต้องเปิดกิจการ หรือ ต้องกลับไปใช้มาตรา 75 จึงต้องจับตาดูว่า ในเดือน ก.ค.-ก.ย. นายจ้างจะใช้มาตรา 75 มากน้อยเพียงใด หรือการเลิกจ้างจะมีสูงขึ้นอย่างไร”

159462172528

  • เปิดโรงงานใหม่เพิ่มสวนทาง

อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ม.ค.–29 มิ.ย.2563) จำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22 % จ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23% และเงินลงทุน 174,850 ล้านบาท ลดลง 14.09% คาดว่าทั้งปี 2563 จะมียอดขอ รง.4 อยู่ที่ 3,000 แห่งเท่าปี 2562

ขณะที่ยอดโรงงานขอยกเลิกกิจการมี 404 แห่ง ลดลงจากปีที่แล้วที่ปิดกิจการ 666 แห่ง โดยเลิกจ้าง 16,680 คน เงินลงทุนหายไป 25,414 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตภัณฑ์จากพืช 47 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอโลหะ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน เพราะใช้แรงงานประกอบและตรวจสอบอุปกรณ์จำนวนมาก 2.อุตสาหกรรมอาหาร 20,112 คน 3.กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 คน 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขโรงงานที่เปิดและปิดในช่วงโควิด-19 บวกลบแล้ว พบว่าโรงงานเปิดใหม่มากกว่าโรงงานที่ปิด แสดงว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงวางแผนการลงทุน และเตรียมความพร้อมทั้งนี้ การจดทะเบียนเปิดโรงงาน ไม่ได้หมายความว่าจะประกอบกิจการทันที แต่จดทะเบียนเตรียมไว้และยังไม่เปิดเดินเครื่อง แต่หากเป็นการปิดโรงงานจะหมายถึงเคลียร์ทุกอย่าง ปิดใบอนุญาต ส่วนตัวโรงงานจะขายต่อหรือไม่ก็อีกเรื่อง หากขายต่อให้เจ้าอื่น และเปลี่ยนชื่อใหม่ เจ้าใหม่ก็ต้องขอใบอนุญาตใหม่

159462085143

  • งบฟื้นฟูจ้างงาน 4.1 แสนคน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การใช้วงเงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนวงเงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท โดยเมื่อเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน 

ทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและตำบล การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ การสร้างกลไกดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน การสร้างบิ๊กดาต้าระดับชุมชน

ขณะที่เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของวงเงิน 4 แสนล้านบาท คือ มุ่งจ้างงานช่วงเศรษฐกิจประเทศได้ผลกระทบจากโควิด-19 โดยวางเป้าหมายในการจ้างงานเพิ่มขึ้น 410,415 ราย

  • จ้างทำข้อมูล-ดูแลผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ โครงการที่มีการจ้างงานจำนวนมากจะเป็นโครงการที่ สศช.จัดลำดับความสำคัญให้เป็นโครงการลำดับต้นที่อาจได้รับพิจารณา เช่น แผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งยั่งยืนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จ้างงาน 70,343 ราย โดยมีโครงการที่มีการจ้างงานจำนวนมากในแผนงานนี้ เช่น โครงการทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจนระดับตำบล จ้างงาน 14,510 ราย 

โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ จ้างงาน 155,548 ตำแหน่ง โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ จ้างงาน 311,48 ราย โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชนจ้างงานรายได้ชุมชนเพิ่มขึ้น 9,137 ราย

ส่วนแผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท มีโครงการจ้างงาน เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชนคาดว่าจะสร้างงานเกษตรกร 600 คน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม การเกษตร อาหารและการแพทย์คาดว่าจ้างงาน 2,500 คน

โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล โดยจะกระจายรายได้สู่ชุมชน รองรับนักศึกษาจบใหม่และบัณฑิตตกงานได้

  • ห่วงบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากการระบาดของโควิดจะต้องมีแนวทางรองรับการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มบัณฑิตและนักศึกษาที่จบใหม่ที่มีปีละ 5 แสนคน ซึ่งในปีนี้จะมีหลายแสนคนที่ต้องว่างงาน ขณะที่ในปี 2564 ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ก็จะมีจำนวนคนที่ว่างงานจำนวนมากซึ่งจะต้องหารือถึงมาตรการที่จะรับมือในส่วนนี้ด้วย

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การใช้วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องนำไปสู่การจ้างงานให้ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มโครงการขนาดกลางให้เร็วที่สุด เพราะโครงการขนาดใหญ่จะใช้เวลามาก และกว่าเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอาจนานเกินไป และการจ้างงานจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ต้องตอบโจทย์สำคัญ ได้แก่ 1.ตรงเป้าหมายลงไปในท้องถิ่นชุมชนที่มีผู้ที่ประสบปัญหาและลงไปในโครงการที่จำเป็น 2.ต้องเป็นโครงการที่ทันต่อเวลาและเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน 3.ต้องเป็นโครงการที่สร้างแรงผลักดันให้เกิดผลกระทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น เช่น การพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน