'ศักดิ์สยาม' สั่งรื้อ 'แผนคมนาคม'
“ศักดิ์สยาม” สั่งสางปัญหางานคมนาคม จ่อแถลงผลงาน 1 ส.ค.นี้ ลั่นมอเตอร์เวย์นครปฐม – ชะอำ เตรียมเปลี่ยนแนวเส้นทาง หากติดปัญหาเวนคืน พร้อมเร่งรื้อสัญญารถไฟสายสีแดง ศึกษาควบรวมพีพีพี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนโครงการคมนาคมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว พร้อมสานต่อโครงการในอนาคต สำหรับโครงการก่อสร้างในปัจจุบัน อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่ – กาญจนบุรี ที่ก่อนหน้านี้ติดปัญหาเวนคืนที่ดิน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งแก้ไข พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ทบทวนวงเงินเวนคืนที่ดิน จนทำให้สามารถเวนคืนที่และดำเนินการก่อสร้างได้ มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568
โครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร (กม.) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. ที่ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลแล้ว และเสนอผลให้ครม.คาดว่าจะนำเข้าวาระพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งโครงการนี้ เอกชนเสนอต่ำกว่าราคากลาง 36 – 37% โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ เสนอราคาต่ำสุด
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า โครงการที่กระทรวงฯ จะเร่งรัดดำเนินการให้ต่อเนื่อง อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ ถือเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ ที่ปัจจุบันได้นำมาทบทวนปัญหาและอุปสรรค และพบว่าคงต้องทำความเข้าใจเรื่องเวนคืนที่ดิน ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี หากสามารถทำความเข้าใจได้ ก็สามารถเดินหน้านำเสนอ ครม.ได้ทันที แต่หากติดปัญหาก็อาจต้องทบทวน ปรับรูปแบบเลี่ยงเส้นทาง และต้องไปศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งอาจจะทำให้ล่าช้าออกไป
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางราง ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นระบบขนส่งหลักในอนาคต ปัจจุบันโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ส่วนโครงการรถไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศขายเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ขณะที่ความคืบหน้าของรถไฟชานเมืองสายสีแดง คาดว่าจะเลื่อนเปิดให้บริการออกไปเป็นปี 2566 เนื่องจากเอกชนคู่สัญญาได้ขอขยายสัญญา 500 วัน
“สายสีแดง ขณะนี้การก่อสร้าง 70-80% มีติดปัญหาเรื่องสถานีกลางบางซื่อ ที่เดิมจะให้แอร์พอร์ตลิงก์มาบริหาร แต่จากสถานการณ์งบประมาณ จึงศึกษารูปแบบลงทุนก่อสร้าง การจัดขบวนรถไฟ สถานีต่างๆ ใหม่”
เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการภาครัฐ (พีพีพี) เพื่อแบ่งเบาการจัดใช้งบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะรวมการพีพีพีในส่วนของสถานีทั้ง 29 สถานี แบ่งเป็น 28 สถานีย่อย และ 1 สถานีหลัก คือสถานีกลางบางซื่อ โดยเฉพาะเรื่องสถานีกลางที่ต้องเอาไปร่วมบริหาร เพราะผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 7 ปีแรก หากแยกสัญญาบริหารสถานีจะขาดทุน จากปัญหาความล่าช้าของสถานีกลางบางซื่อ จะส่งผลให้กำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ล่าช้าออกไปเป็นปี 2566 จากแผนเดิมจะเปิดให้เดือน ม.ค.2564
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า ความล่าช้าเกิดจากสัญญาที่ 1 ติดปัญหารื้อย้ายสาธารณูปโภค ขับไล่ผู้บุกรุก รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ซัพพลายเออร์จากญี่ปุ่นมาไทยไม่ได้กระทบมายังงานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทำให้เอกชนคู่สัญญา คือ กิจการร่วมค้ามิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม ยื่นขอขยายเวลา