ภาวะ BURNOUT โจมตีหลังวันหยุดยาว ชาวออฟฟิศรับมือยังไงดี?

ภาวะ BURNOUT โจมตีหลังวันหยุดยาว ชาวออฟฟิศรับมือยังไงดี?

กลับสู่โหมดทำงาน หลังหยุดยาวไป 4 วัน หลายคนเริ่มมีอาการหมดแรง หมดพลัง หงุดหงิดรำคาญใจ เริ่มบ่นและรู้สึกท้อแท้กับงานที่ทำอยู่ ถ้าใครมีอาการเหล่านี้ แปลว่าคุณโดน BURNOUT SYNDROME โจมตีเข้าให้แล้ว

หลังจากหยุดยาวไปหลายวัน วันนี้เป็นวันแรกที่มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายต้องเข้าสู่โหมดทำงานอีกครั้ง บางคนก็มักจะมีอาการ เนือยๆ และเริ่มเบื่อหน่ายกับการงัดตัวเองออกไปทำงาน ลองถามตัวเองสิว่ามีอาการแบบนี้หรือเปล่า? ถ้าใช่...แปลว่าคุณอาจตกอยู่ในภาวะ BURNOUT SYNDROME เข้าให้แล้ว!

รู้หรือไม่? WHO กำหนดให้ Burnout Syndrome เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งที่ควรได้รับการวินิจฉัย และรักษาโดยแพทย์ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนยุคนี้ที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟในการทำงานได้ง่าย  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหนุ่มสาวมารู้จักวิธีรับมือกับภาวะ Burnout  (อาการหมดไฟในการทำงาน) เพื่อให้คุณปรับสมดุลชีวิต และมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นกว่าที่เคย

อย่างที่บอกไปว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" (Burnout Syndrome) เป็นความผิดปกติทางร่างกายชนิดหนึ่ง ตามที่ระบุไว้ในบัญชีจำแนกสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง(ICD-11) อันเป็นคู่มือทางการแพทย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป)

นั่นก็หมายความว่า หากคุณมีอาการของ “Burnout” ขึ้นมา ก็ให้รู้ไว้เลยว่ามันเป็นโรคภัยคุกคามชีวิตและควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ หากใครปล่อยให้ Burnout เกิดขึ้นซ้ำๆ และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ก็อาจจะเพิ่มความรุนแรงและนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ได้ 

  • ภาวะหมดไฟ VS ภาวะซึมเศร้า

จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้มีความใกล้เคียงกันมาก แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว เราจะจำแนกความแตกต่างของแต่ละอาการให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น คือ

- ภาวะหมดไฟ: อาการ Burnout เกิดจากความเหนื่อยล้าในการทำงานเป็นหลัก สามารถหายได้เอง แต่ถ้าอาการรุนแรงยิ่งขึ้นแล้วไม่รีบรักษา อาการ Burnout อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเครียดสะสม ภาวะนอนไม่หลับ และพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าได้

- ภาวะซึมเศร้า: อาการเหนื่อยล้าหดหู่จากหลายๆ เรื่องในชีวิต อาจเป็นได้ทั้งเรื่องงาน เรื่องคู่รักเรื่องครอบครัว เรื่องการเงิน ฯลฯ อาการคล้ายกันแต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการรุนแรงมากกว่า และต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

159600189766

  • "Burnout ภาวะหมดไฟในการทำงาน" เกิดจากอะไรกันแน่?

1. มีปัญหาเรื่องการจัดการชีวิต

หากคุณเป็นคนที่มีปัญหาในการจัดตารางงานและตารางการใช้ชีวิต เช่น เมื่อมีเรื่องที่ต้องให้ทำเข้ามาพร้อมๆ กันหลายอย่าง ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัยได้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง หรือไม่สามารถรับผิดชอบงานของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็จะนำไปสู่ภาวะ Burnout ได้ง่าย

2. งานที่ทำไม่เหมาะกับตนเอง

หลายครั้งที่ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนไม่สามารถเลือกงานที่ตัวเองถนัดได้เสมอไป บางครั้งได้รับมอบหมายงานที่ไม่อยู่ในความสนใจหรือไม่ถนัด และถูกคาดหวังอย่างมากจากเจ้านาย หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน จนทำให้รู้สึกอึดอัดใจ เกิดความเครียดตามมา เมื่อเครียดสะสมบ่อยๆ เข้าก็เป็นสาเหตุของภาวะ Burnout ได้

3. งานที่ทำต้องใช้พลังเยอะมาก

หากงานที่คุณทำ มีลักษณะงานประมาณว่าต้องใช้พลังความคิดเยอะ เดินทางไปนั่นนี่ตลอดเวลาทั้งวัน ค่อนข้างวุ่นวาย ต้องจัดการปัญหาหลายๆ อย่างที่เข้ามาพร้อมกันจนต้องใช้พลังงานทั้งหมดที่มีมุ่งไปที่งานตลอดเวลา จนไม่ได้พัก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณเหนื่อยล้าและหมดไฟได้ในที่สุด

4. ขาดสมดุล Work Life balance

ช่วงนี้ได้ออกไป HangOut บ้างหรือเปล่า? หากงานที่ทำนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและแรงกายเป็นอย่างมาก หรือเป็นงานที่กินเวลาส่วนตัวไปด้วย จนทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงเหลือพอไปเข้าสังคมหรือสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัวได้ นี่ก็ทำให้คุณมีอาการหมดไฟเร็วขึ้นได้เช่นกัน

5. ขาดแรงสนับสนุน

ถ้าคุณทำงานที่ต้องเผชิญปัญหา และต้องแก้ปัญหาเยอะๆ ในแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้คุณเครียดขณะทำงาน ซ้ำร้ายเมื่อกลับมาบ้านแล้วยังต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชีวิตส่วนตัว ไม่มีเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือแฟนคอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ก็ยิ่งส่งผลให้ยิ่งเครียดและนำไปสู่ภาวะ Burnout ได้ง่ายขึ้น

159600189614

  • “Burnout” มีอาการยังไงบ้าง?

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าถูก Burnout Syndrome เล่นงานเข้าให้แล้ว? เราอยากให้คุณลองเช็คตัวเองในเบื้องต้นว่าคุณมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่? ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถ้ามีอาการเหล่านี้ มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะเป็น Burnout  แล้วล่ะ!  

1. หมดแรง หมดพลังงานในการทำทุกอย่าง

2. ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานเริ่มทำให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ

3. เริ่มบ่นหรือวิจารณ์งานที่ทำ

4. รู้สึกท้อแท้กับงานที่ทำอยู่

5. ไม่รู้สึกพึงพอใจในความสำเร็จของงานที่ตัวเองทำได้

6. นึกถึงปัญหาเรื่องงานตลอดเวลา แม้แต่ตอนกินข้าวหรือเข้านอน

7. มีปัญหาในการนอนและการกิน เช่น นอนไม่หลับ ไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหาร

8. หงุดหงิดใจร้อนกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าบ่อยขึ้น

9. ชีวิตยุ่งเหยิง ขาดความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน

10. ต้องหาอะไรมากระตุ้นตัวเอง พึ่งยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อทำให้รู้สึกดีขึ้น

159600216459

  • เมื่อรู้ตัวว่าเป็น Burnout รับมือยังไงดี?

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภาวะ "Burnout" ไว้ว่า การจัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟควรดูแลสองด้านควบคู่กันไป คือด้านการจัดการกับตัวเอง และการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน   โดยคุณสามารถปรับลูปชีวิตใหม่ได้ง่ายๆ แบบนี้

1. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. ปรับเวลาการตื่น การนอน การกิน ให้ตรงเวลามากขึ้น

3. ผ่อนคลายอารมณ์ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิงให้รางวัลกับตนเอง

4. พูดคุยขอคำปรึกษากับคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อน แฟน คนในครอบครัว

5. หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

6. ทำงานแต่พอดี อย่ากดดันตัวเองให้ต้องทำได้ทุกอย่าง อย่าลืมว่าเราไม่ใช่หุ่นยนต์

7. ฝึกเขียนตารางจัดลำดับงานและตารางชีวิต พยายามทำให้ได้ทุกวัน

8. ปรับสิ่งแวดล้อมการทำงานให้มีพลังบวกมากขึ้น เช่น หาต้นไม้มาวางที่โต๊ะทำงาน

9. พูดคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจนผ่านวิดีโอคอล

10. หากติดขัดเรื่องการทำงานต้องโทรคุยกันในทีมผ่านวิดีโอคอล ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เพียงเท่านี้ชาวออฟฟิศก็จะสามารถรับมือกับภาวะ Burnout ได้อย่างรู้เท่าทัน เพื่อช่วยให้สุขภาพกายใจที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นเดิมแม้ว่าจะต้องฝ่าวิกฤติ "โควิด-19" ไปพร้อมๆ กันก็ตาม 

--------------------

อ้างอิง: 

https://edition.cnn.com

https://www.forbes.com

https://www.pobpad.com/burnout