วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกำไรของ 'ธนาคารพาณิชย์ไทย' อย่างไร?
"ธนาคารพาณิชย์" ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการคาดการณ์ตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และตอกย้ำด้วยผลกำไรสุทธิที่ธนาคารพาณิชย์ไทยต่างปรับลดอย่างถ้วนหน้า โดยภาพรวมลดลงถึง 35% ถือว่ารุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการรายงานผลประกอบการและงบการดำเนินงานของหลายๆ บริษัทนะครับ ซึ่งการรายงานข้อมูลการดำเนินงานของธุรกิจในไตรมาสที่ 2 นั้นถือว่ามีความสำคัญและมีความน่าสนใจมากเลยทีเดียว
เนื่องจากไตรมาสที่ 2 นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการปิดเมืองและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข้อมูลที่มีการรายงานออกมาในช่วงไตรมาสนี้จึงน่าจะสามารถบ่งบอกผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจนั้น รวมไปถึงช่วยบ่งบอกแนวโน้มการดำเนินงานของธุรกิจนั้นในช่วงเวลาต่อไป
ธนาคารพาณิชย์ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการคาดการณ์มาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาด ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจากวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลจากการรายงานผลประกอบการก็แสดงให้เห็นผลกระทบต่อกำไรอย่างชัดเจน
โดยผลกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยต่างก็มีการปรับตัวลดลง โดยรวมแล้วกำไรสุทธิมีการปรับลดไปจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 35% ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวของกำไรที่รุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตจะพบว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการหดตัวของกำไรสุทธิเกินกว่า 20% โดยก่อนหน้านี้มีเพียงช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ที่ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ทำให้กำไรสุทธิหดตัวกว่า 24%
สิ่งที่น่าสนใจจากการหดตัวของกำไรของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ คือสาเหตุของการหดตัวที่มาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เป็นสาเหตุมาจากรายได้ที่ลดลงแต่อย่างใด รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังคงเติบโตในระดับที่สูงเฉลี่ยที่ 9% เนื่องมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้มีการปรับลดภาระดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลง แม้รายได้อื่นๆ จะมีการปรับลดลงบ้าง
แต่ในภาพรวมรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุมาจากการบันทึกรายได้ทางบัญชี ที่ยังมีการบันทึกรายได้จากสินเชื่อที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้เข้าร่วมไปด้วย หากสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อมีการปรับตัวแย่ลงกว่าที่ประเมินไว้ รายได้ส่วนนี้ก็จะพึงได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 2.72 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคือต้นทุนความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ อย่างการตั้งสำรองที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การตั้งสำรองที่สูงขึ้นมีต้นเหตุมาจากความกังวลที่อัตราหนี้เสียจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แม้ในตอนนี้ตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL ที่มีการรายงานออกมาจะยังไม่เพิ่มสูงนัก อันเป็นเหตุผลมาจากการดำเนินมาตรการเยียวยาลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เมื่อมาตรการสิ้นสุด ย่อมมีลูกหนี้บางกลุ่มที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ เป็นภาระความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการรับมือ
ในภาพรวมแล้ว ธนาคารพาณิชย์ไทยต่างล้วนมีการเตรียมตัวรับมือความเสี่ยงที่ดี โดยมีการปรับเพิ่มการตั้งสำรองให้มากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ยอดการตั้งสำรองรวมสูงกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดการตั้งสำรองที่สูงที่สุดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในไตรมาสที่แล้ว 109% เมื่อประเมินถึงแนวโน้มเงินสำรองที่ต้องตั้งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง จะพบว่าในบางธนาคารที่มีการตั้งสำรองในระดับปกติในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา คงต้องมีการตั้งสำรองที่สูงขึ้นแต่ในภาพรวมยอดเงินที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มไม่ควรที่จะสูงเทียบเท่าระดับที่ได้มีการเตรียมไว้แล้วในช่วงครึ่งปีแรก
การดูแลลูกหนี้และการจัดการคุณภาพสินเชื่อผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสมจึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่จะช่วยทั้งด้านรายได้ผ่านทางรายได้ดอกเบี้ยอย่างที่ธนาคารพาณิชย์ได้มีการประเมินไว้ และช่วยเหลือในการลดต้นทุนความเสี่ยงลง เพื่อทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยดีครับ