7 ข้อที่แบรนด์ควรทำ เพื่อสร้างการเติบโตหลังโควิด
ส่อง 7 ข้อที่แบรนด์สินค้าต่างๆ ควรทำเพื่อแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด และชิงทำคะแนนจากผู้บริโภค หลังจากที่ไทยได้คลายล็อกและเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น
หลังจากไทยออกจาก Lockdown เป็นช่วงเวลาที่แบรนด์ต่างๆ ต้องแข่งขันกันทำคะแนนกับผู้บริโภค เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ทาง Kantar มี 7 ข้อที่แบรนด์ควรทำ ดังต่อไปนี้
1.แบรนด์ต้องเข้าถึงได้ง่าย การเป็น omni-channel ช่วยให้เราสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ราบรื่น รวดเร็ว และง่ายดาย ผู้คนไม่สามารถซื้อในสิ่งที่เขาหาไม่ได้ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องทำให้สินค้าของเราอยู่ใน Channel ที่ลูกค้าคาดหวัง และช่วยจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่อาจจะทำให้การซื้อสินค้าสะดุดลง ถ้าการซื้อง่ายขึ้นจะดึงดูดให้คนซื้อของเร็วขึ้นและมากขึ้น หมดยุดแล้วกับการที่ลูกค้าจะต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลเพื่อหาสินค้าที่เขาต้องการ ถ้าเข้าถึงยากเขาก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ได้ไม่แพ้กัน
2.แบรนด์ไม่ใช่แค่แตกต่าง แต่ต้อง Meaningful ด้วย เราสามารถสร้างความแตกต่างได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบสินค้า สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น การบริการที่ดี การมี Brand Purpose ที่ชัดเจน หรือการสื่อสารและ Positioning ที่โดดเด่น ทั้งนี้ทั้งนั้นแบรนด์ต้องตอบโจทย์ Functional และ Emotional needs ของลูกค้าเสมอจึงจะมีคุณค่าสำหรับพวกเขา ความแตกต่างนำไปสู่ความตื่นเต้นและความสนใจ แต่การสร้างคุณค่าที่แตกต่างทำให้ลูกค้าตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าให้กับแบรนด์ของเรา
3.แสดงให้ลูกค้าเห็นตลอดเวลาถึงคุณค่าที่แตกต่างของเรา (Meaningful Difference) ผ่านประสบการณ์กับแบรนด์ของเรา เมื่อแบรนด์เรามี Positioning ที่ชัดเจนแล้ว เราต้องให้ลูกค้า “รู้สึก” ถึงสิ่งที่เราเป็นได้ชัดเจนในการสัมผัสกับแบรนด์ในทุกๆ ด้าน ถ้าแบรนด์เราเน้นเรื่องความง่ายในการทำธุรกรรม ลูกค้าต้องรู้สึกว่า ง่ายจริงๆ ไม่ว่าจะใน Channel ไหนก็ตาม ที่สำคัญต้องให้ลูกค้ารู้สึกว่า เราพูดแล้ว ทำได้อย่างนั้นจริงๆ
4.ตั้งราคาอย่างมีกลยุทธ์และสอดคล้องกับ Value ที่เรานำเสนอ ต้องศึกษาดูเรื่องของ Price point ที่เหมาะสม สร้างสมดุลระหว่างการได้ผลกำไรมากขึ้นกับการกระตุ้นให้เกิด Demand ในบางครั้งการตั้งราคาสูงได้ Margin ดีกว่า อาจจะสร้างการเติบโตของผลกำไรมากกว่าการสร้าง Volume ที่ใหญ่ นอกจากนี้ถ้าเรามีสินค้าหลากหลายเราต้องให้เห็นความแตกต่างของสินค้ากับราคาที่ต่างกัน ไม่เช่นนั้นลูกค้าจะ Trade down ไปซื้อตัวที่ถูกที่สุด
5.ต้องเป็นแบรนด์ที่คนนึกถึงก่อนใน category นั้นๆ ยิ่ง e-commerce เติบโตขึ้นหลังโควิท -19 การเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักและจำได้ทันทีนั้นจะช่วยให้ลูกค้าค้นหาเราได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ความต้องการซื้อสินค้าถูกกระตุ้นด้วยความต้องการ หรือโอกาส (Occasions) บางอย่าง แบรนด์จึงต้องลงทุนกับการสื่อสารกับลูกค้า โฆษณาต้องสอดคล้องกับแบรนด์และสร้างความจดจำได้ดี นอกจากนี้การกระตุ้นให้แบรนด์ถูกพูดถึงใน Social Media และโลกออนไลน์ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความสนใจของผู้คนอยู่ใน Channel เหล่านี้
6.ดึงดูดลูกค้าเก่าให้อยู่กับเราให้ได้นานที่สุด การเสียลูกค้าเก่าไปและหาลูกค้าใหม่มาทดแทน ต้องใช้เวลากับค่าใช้จ่ายมากกว่าการรักษาฐานลูกค้าเก่า เราจึงต้องดูแลลูกค้าเก่าให้ดีดังเดิม และให้ประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาให้รวดเร็ว รวมทั้งสร้างความแปลกใหม่อยู่เสมอ เป็นโอกาสให้เราสามารถ Trade up ให้เขาสนใจซื้อสินค้าที่พรีเมี่ยมขึ้นอีกด้วย
7.ต้องเร่งสร้าง Innovation ไม่อย่างนั้นเราอาจต้องเจอกับ Disruption ขณะที่เรามีความชัดเจนเรื่องของ Meaningful Difference เราต้องคงคุณค่าที่เราให้กับลูกค้าผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ หลังโควิท -19 ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความต้องการ ซึ่งเปิดโอกาสให้เราคิดทำอะไรใหม่ๆ พวกเขาเปิดกว้างมากขึ้น สนใจใคร่รู้มากขึ้น และมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ดีแต่ควรระวังการแตกแขนงชนิดสินค้ามากเกินไป หรือการที่นวตกรรมไม่ตอบโจทย์เรื่อง consumers needs เพราะจะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดการเติบโตนั่นเอง