คอนโดเปิดใหม่8.7หมื่นต่อตร.ม.วูบ3.5%
เทอร์ร่า มีเดียฯ เผยคอนโดเปิดขายใหม่ราคาปรับตัวลดลง 3.5% เฉลี่ย 8.7 หมื่นบาทต่อตร.ม. หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นทุบราคาคอนโดย่านทองหล่อ-เอกมัย เหลือ 1.8-2 แสนบาทต่อตร.ม. ชี้โอกาสทองของผู้ซื้อ
นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ให้บริการมาร์เก็ต เพลส และคอนเทนท์ อสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลต่ออารมณ์ซื้อและกำลังซื้อของผู้บริโภคค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 83% เนื่องจากผู้ประกอบการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ซึ่งคอนโดส่งสัญญานปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2561 จากกำลังซื้อของคนจีนลดลง เป็นผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เงินหยวนอ่อนลง ต่อมาได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นเป็นระลอกทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด ปัจจุบันคอนโดที่เปิดขายใหม่ในปี 2563 ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีราคาขายปรับตัวลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 87,000 บาทต่อตร.ม. ลดลง 3.5% เทียบปี 2562 ราคาเฉลี่ย 89,500 บาท ต่อตร.ม. และลดลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 96,000 บาท ต่อตร.ม. ขณะที่จำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2563 ลดลง 83%
ปัจจุบันคอนโดในกรุงเทพฯ ที่มีดีมานด์สูง คือ ทำเลทองย่านทองหล่อ-เอกมัย กลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติมีสัดส่วนถือครองห้องชุดมากกว่า 25% แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ราคาขายปรับลดลงมาอยู่ที่ 220,000-250,000 บาทต่อตร.ม. คาดการณ์ปี 2564-2565 หากภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นอาจเห็นราคาขายคอนโดย่านนี้ที่ 180,000-200,000 บาทต่อตร.ม. เพื่อระบายสต็อกรักษาเงินสด นับเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อคอนโดในระดับราคาขายที่กลับไปช่วงพรีเซล ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว และซื้อเพื่ออยู่อาศัย เพราะอยู่บนทำเลทองซึ่งหาพื้นที่สร้างได้ยากและราคาขึ้นตลอดเวลา
สำหรับ แนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ จากนี้จนถึงปลายปี 2564 ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับแผนการพัฒนาโครงการใหม่เน้นสร้างมาตรฐานใหม่ให้การใช้ชีวิต ทำเลที่ต้นทุนที่ดินสามารถพัฒนาเป็นโครงการแนวราบได้ต้องปรับเปลี่ยนสินค้าเป็นแนวราบแทนเพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน ส่วนทำเลต้นทุนที่ดินมาสูงอาจต้องชะลอโครงการ
"การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกับพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดและบ้าน ทั้งในแง่การเลือกทำเลที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตครอบครัวมากขึ้น เพราะผู้บริโภคตระหนักและมีประสบการณ์ในการทำงานที่บ้านและต้องการรักษาระยะห่างในการใช้พื้นที่ส่วนกลาง ฉะนั้นต้องปรับใหม่จากเดิมชูจุดขายแชร์พื้นที่ร่วมกันอย่าง โค-เวิร์กกิ้งสเปซ โค-คิทเช่น สเปซ สำหรับคนชอบทำอาหารร่วมกัน อาจไม่ใช่คำตอบสร้างความสนใจอีกต่อไป
อีกปัจจัยสำคัญ "กำลังซื้อ" ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมีผลต่อรายได้ การจ้างงาน และการประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อ ธนาคารส่วนใหญ่ประเมินความสามารถในการซื้อของลูกค้าต่ำลงจากเดิม 10-20% เพราะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือคาดการณ์เศรษฐกิจขาลงอย่างยาวนาน