หยุด! หรือไปต่อ...'หมอยง' ตอบชัด 'พลาสมา' ไทยไปถึงไหนแล้ว?
ท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่ และข่าวการใช้ "พลาสมา" รักษาผู้ป่วย "โควิด-19" ในสหรัฐอเมริกา "นพ.ยง ภู่วรวรรณ" อัพเดทความคืบหน้าในการใช้พลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วยในไทย
หลังจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) มีคำสั่งอนุมัติฉุกเฉินเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา อนุญาตให้คณะแพทย์นำพลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้วมาทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ โดยมีผลการศึกษายืนยันว่า การใช้พลาสมาผู้ที่หายป่วยมารักษาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ คำถามที่ตามมาก็คือ โครงการรับบริจาคพลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ริเริ่มโดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองมีความเชื่อตั้งแต่เริ่มโครงการแล้วว่า พลาสมาสามารถใช้ได้ผลดี แต่ช่วงแรกๆ ที่มีการนำมาใช้อาจได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เพราะนำไปให้ผู้ป่วยตอนระยะท้าย ซึ่งปอดพังไปหมดแล้ว จึงได้ทำโครงการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลในการใช้พลาสมากับผู้ป่วย ซึ่งได้ทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า การให้พลาสมากับผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มมีอาการปอดบวมได้ผลดีที่สุด
"ต้องให้เร็ว ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิขึ้นมาให้ไปก่อน ผมมีความเชื่ออย่างนี้มานานแล้วว่า ทันทีที่เป็นปอดบวมต้องให้พลาสมา แต่คนที่เป็นน้อยๆ ไม่ให้นะ จะให้ต่อเมื่อเริ่่มเป็นปอดบวมแล้ว ให้เลย แล้วก็จริง ตอนนี้มันมีการศึกษาที่เท็กซัส ในอเมริกาให้พลาสมาไปแล้ว 6 หมื่นกว่าคน ดาต้าออกมาชัดเจนแล้วว่าถ้าให้เร็ว ลดอัตราการตายได้ 28 วัน เหมือนกันเลยกับโครงการที่เราเขียน"
ทั้งนี้ นพ.ยง ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในเพจเฟซบุ๊กของตนเองว่า ผลการศึกษาการให้ Plasma จากผู้ที่หายป่วย มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย covid19 ที่มีอาการปอดบวมในรัฐเท็กซัส เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าการให้พลาสมาในผู้ป่วย เร็ว ลดอัตราการตายของผู้ป่วยในวันที่ 28 อย่างมีนัยยะสำคัญ
ข้อมูลรายละเอียด ได้ลงพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Pathology เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมนี้ Treatment of COVID-19 Patients with Convalescent Plasma Reveals a Signal of Significantly Decreased Mortality ดังรายละเอียด อ่านได้ตามเว็บนี้ https://ajp.amjpathol.org/article/S0002-9440(20)30370-9/fulltext
ในโครงการที่กำลังจะทำในการให้ พลาสมา ในการรักษาผู้ป่วยของเราใช้วิธีเดียวกัน คือจะให้พลาสมาในผู้ป่วยที่ค่อนข้างเร็วจะไม่รอให้ถึงขั้นวิกฤตมากโดยจะให้พลาสมาตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยว่ามีปอดบวมอย่างน้อย 1 จุด ร่วมกับการวัดระดับออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ หรือมีปอดบวม 2 จุด ก็จะให้เลย และถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ด้วยข้อกำหนดที่กำหนดไว้ จะให้ Plasma 3 อีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ดี ระหว่างการสัมภาษณ์ นพ.ยง ตัดพ้อถึงขั้นตอนการพิจารณาในการนำพลาสมามาใช้ว่า
"เมืองไทยแค่โครงการพลาสมาของผมต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เป็นเดือนสองเดือน สามเดือน ไม่ผ่าน โชคดีที่ตอนนี้ยังไม่มีการระบาด"
จริงอยู่ที่ทุกอย่างย่อมมีผลข้างเคียง แต่การนำพลาสมามารักษาผู้ป่วยมีการใช้มาตั้งแต่อดีต มีผลการศึกษาวิจัยมากมาย และการดำเนินการก็ดูแลโดยศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ซึ่งมีมาตรฐานระดับเดียวกันกับทั่วโลก จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญในเรื่องนี้
ถึงอย่างนั้น นพ.ยง บอกว่าคนไทยสบายใจระดับหนึ่ง เพราะโครงการนี้ขณะนี้ได้มีการเก็บพลาสมาที่มีระดับภูมิต้านทานสูงไว้ร่วม 300 ถุงแล้ว สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี น่าจะเพียงพอหากมีการระบาดระลอกใหม่
"ถ้ามีคนป่วยถึงขั้นปอดบวม 200 คนเพียงพออยู่แล้ว เพราะคนไข้โควิด-19 จำนวน 100 คนจะมีปอดบวมประมาณ 20 คนเท่านั้น"
ในตอนท้าย นพ.ยง กล่าวเชิญชวนผู้ที่หายจากการติดเชื้อให้มาบริจาคพลาสมา ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย ซึ่งยังคงเปิดบริการรับอยู่อย่างต่อเนื่อง