'ปฎิรูปเศรษฐกิจ' รับมือโควิด วางรากฐานพัฒนายั่งยืน
ในช่วงเดือนก.ย.2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 จึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 แต่งตัั้งคณะกรรมการปฏิรูปจำนวน13 คณะ หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาส
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการรับฟังความเห็นต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใน 5 ประเด็นเศรษฐกิจที่ทางคณะกรรมการฯเสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ได้มีการนำแผนมาปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไปเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอได้เดือน พ.ย.นี้
กอบศักดิ์ ภูตระกูลรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ได้นำแผนยุทธศาสตร์เดิม มาปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทั้งภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) โดยมีแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้านเพื่อการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ(Big Rock) ที่จะต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จภายใน 2 ปีข้างหน้า
ประกอบด้วย 1.การสร้างเกษตรมูลค่าสูง มีเป้าหมายสร้างเกษตรให้มีมูลค่าสูง โดยการปรับโครงสร้างจากเกษตรดั้งเดิมพัฒนาไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง การสนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิตและรวมจำหน่าย การสร้างผู้ประกอบการภาคเกษตร สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง การส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยขน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจBCG
2.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หลังจากโควิด-19 กระทบการท่องเที่ยวไทยอย่างรุนแรง และทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ส่งผลทำให้เศรษฐกิจเชิงสุขภาพมีแนวโน้มการเติบโตดี ดังนั้น ต้องสร้างให้ไทยเป็นศูนย์การการรักษาและดูแลสุขภาพหรือ Medical &Weiiness Hub ของเอเชีย โดยใช้โมเดล กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดี นอกจากนี้ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมด้านที่พัก เพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำเพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง
3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย โดยขณะนี้เอสเอ็มอีประสบปัญหาในการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ และยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 จึงต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งอาจเกิดหนี้เสียได้ จึงต้องหามาตรการช่วยเหลือทั้งการขยายเวลาการช่วยเหลือ เพิ่มแหล่งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เป็นต้น
4.การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยโควิด-19 ทำให้หลายประเทศจะมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนมาในภูมิภาคเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐ ยุโรป โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ จึงต้องมีแนวทางส่งเสริมและแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการลงทุน โดยจะต้องมีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเพื่อให้เอื้อต่อการถ่ายลำและการผ่านแดน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำงานประกอบธุรกิจและพักอาศัยในประเทศ เป็นต้น การอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจการเงิน การประกันภัยและการบริการ
5.การพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการพัฒนาถือเป็นความท้าทายมาก โดยแผนและกิจกรรมที่วางไว้คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีสำหรับสถานศึกษาในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนตามระบบ
ดังกล่าวได้อย่างเต็มรูปแบบโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ การออกแบบการพัฒนาทักษะกำลังคน (Up Skill and Re Skill)สำหรับคนที่ออกจากระบบการศึกษามาแล้ว เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
“5 เรื่องนี้จะเริ่มทำก่อน แต่ก็การเสนอเรื่องดิจิทัลคอนเทนต์ ที่กำลังมาแรง คณะกรรมการก็รับฟังและจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียด จากนั้นก็จะจัดร่างการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาลต่อไป พร้อมกันนี้ก็จะเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิรูปทั้ง 5 ด้าน”
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการนั้นเห็นว่าจะใช้งบบูรณาการของรัฐที่มีอยู่แล้วในงบประมาณประจำปี เช่น งบท่องเที่ยว งบพัฒนาคน งบเอสเอ็มอี โดยจะนำโครงการที่กำหนดไว้ไปรวมในงบบูรณาการ ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการมารับผิดชอบในแต่ละด้าน โดยมีภาคเอกชนมาร่วมในการขับเคลื่อนแผนทั้งหมดด้วย